PCMCIA หรือ Cardbus แม้ไม่ใช่อินเตอร์เฟซที่นิยมใช้ทำเป็นออดิโออินเตอร์เฟซ แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีเลยในท้องตลาด เหตุผลสำคัญคือการที่มันมีอยู่บนคอมพิวเตอร์แลปท๊อปเท่านั้น และไม่ใช่ทุกรุ่นที่มี โดยเฉพาะแลปท๊อปรุ่นใหม่ ๆ ราคาถูกนั้น เริ่มตัดมันทิ้งไปบ้างแล้ว เนื่องจากอุปกรณ์สำคัญถูกนำไปบรรจุบนเมนบอร์ดเรียบวุธ และถ้าท่านผู้อ่านจะพลิกผ่านหน้านี้ไป เพราะเข้าใจว่ามันไม่น่าสนใจที่อินเตอร์เฟซ PCMCIA ก็ขอให้ช้าลงก่อนครับ ด้วยเหตุผลอย่างแรก คือการที่มันมีหลายส่วนที่แก้จุดอ่อนของรุ่น 1820 ไม่ว่าจะเป็นอินพุทที่ครบเครื่อง มี High Impedance สำหรับกีตาร์ Stereo Phono สำหรับต่อจาก Turntable ไมค์ปรีแอมป์และไลน์แบบปกติ และตบท้ายด้วยวงจรลิมิตเตอร์ที่ภาคอินพุท เราจึงจะได้ลักษณะของเสียงแบบอนาลอกจริง ๆ ที่ออดิโออินเตอร์เฟซส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีมาให้ 1616 ยังสนับสนุนแซมเปิ้ลเรทที่ 88.2 และ 176.4 kHz ด้วย (ผู้ใช้ EMU รุ่นอื่น ๆ ต่างเรียกร้องมานานนับปี)
ยังกังวลถึงเรื่องอินเตอร์เฟซ PCMCIA อยู่ใช่ไหมครับ? ความจริงแล้วรุ่น 1616M มีแบบ PCI ให้เลือกใช้ด้วย หรือถ้าต้องการใช้แบบ PCMCIA บนเครื่อง Desktop เราก็ยังสามารถใช้ตัวแปลงราคาประมาณพันนิด ๆ มาใช้ได้ด้วย ช่วยให้เราสามารถนำมาใช้สลับไปสลับมาระหว่างเครื่อง Desktop กับเครื่อง Laptop ได้ด้วย
ยังมีเหตุผลในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งถือว่าโคลนรุ่น 1820 มาเลย ไม่ว่าจะเป็นวงจร ADC (Analog to Digital Converter) คุณภาพสูง ความละเอียด 24 บิต 192 kHz มี Jitter ของสัญญาณนาฬิกาต่ำมาก รวมถึง DSP Effect ที่หลายคนอาจคิดว่าอินเตอร์เฟซแบบ PCMCIA นั้นไม่มีให้ เพราะ DSP Effect จะโหลดไว้ที่ตัว Docking ฺBay (Microdock) อยู่แล้ว แต่ที่ไม่ได้เอามาหมดก็คือเรื่องของจำนวนอินพุท เอาท์พุทที่จะมีน้อยกว่ารุ่น 1820
ก็อย่างที่หลายคนทราบข้อมูลเกี๋ยวกับอินเตอร์เฟซของ EMU มาก่อนแล้ว นั่นก็คือการที่รหัส m ที่อยู่ตามหลังตัวเลข 1616 นั่นคือการที่รุ่น m จะมี ADC แบบเดียวกับรุ่นยอดธงของ Digidesign Protools HD192 ขณะที่รุ่นไม่มี m จะใช้ Converter ที่ต่ำกว่า คือได้ Signal to Noise Ratio ประมาณ 110 dB ขณะที่รุ่น m จะได้ถึงประมาณ 120 dB แต่ทั้งสองรุ่นก็มี Jitter ของสัญญาณนาฬิกาต่ำ และรายละเอียดส่วนอื่นเหมือนกันทุกอย่าง ส่วนราคาของนั้นต่างกันประมาณนึง สอบถามไปทางตัวแทนจำหน่ายบ้านเราจะนิยมนำมารุ่น m เข้ามา เพราะคนทำงานบันทึกเสียงมักจะต้องการของที่ดีที่สุดเสมออยู่แล้วครับ
ภาพรวมของ 1616M
จากที่เห็นในภาพครับ ตัว 1616M จะประกอบไปด้วยการ์ด PCMCIA (02 Cardbus) เป็นตัึวอินเตอร์เฟซต่อเข้าแลปท๊อป และตัว Docking Bay ทำหน้าที่เป็นอินพุท เอาท์พุทให้ระบบ ตัว Dock กับการ์ดจะเชื่อมต่อกันด้วยสายแลนหัวต่อ CAT5 หรือที่เราใช้ต่อระบบแลน (LAN-Local Area Network) ในบ้านนั่นเองครับ ทีเด็ดอีกอย่างก็คือ หากเราไม่ต้องการใช้อินพุท-เอาท์พุทมากมายที่ตัว Dock เราสามารถถอดตัว Dock ออก ใช้เฉพาะตัวการ์ดซึ่งจะมีเอาท์พุทสำหรับต่อไลน์/เฮดโฟนมาให้ เราจึงสามารถนำมันออกไปใช้ทำงานคู่กับแลปท๊อปที่ไหนก็ได้
ด้านหลังของ Microdock เราจะเห็น Phono In อยู่หนึ่งคู่พร้อม RIAA Equalisation สำหรับรับสัญญาณจาก Turntable
ด้านหน้าของ Microdock จะมีอินพุทสำหรับไมค์/กีตาร์/ไลน์ สองช่องโมโน (Combo Jack: TRS+XLR) ขณะที่ด้านหลัง นอกจากจะมีอินพุทแบบ Balanced TRS 2 ช่องสเตอริโอ (4 x TRS) แล้วยังมีอินพุทสำหรับ Turntable อย่างที่เรียนไว้ตั้งแต่แรก ในภาคเอาท์พุทจะเป็นแบบ Balanced 6 ช่อง และยังมีเอาท์สำหรับเฮดโฟนอยู่ทางด้านหน้า พร้อมปุ่มควบคุมความดัง (ซึ่งปุ่มนี้จะถูกใช้เป็นปุ่มเปิดปิดการทำงานของ Microdock ด้วยครับ) ระบบ I/O อื่น ๆ ก็มี MIDI I/O หนึ่งคู่ S/PDIF Coaxial I/O หนึ่งคู่ ADAT อีกหนึ่งคู่ โดยจะมีปุ่มให้เราคอยสลับไปใช้รับส่ง Toslink Optical S/PDIF ด้วยได้ด้วย ถือว่าเป็นระบบการทำงานที่ครบถ้วนอย่างที่ Project Studio ต้องการครับ
ขอกลับมาขยายความในส่วนของอินพุททั้งสองช่องทางด้านหน้านิดนึงครับ มันไม่เพียงแต่มี 48V Phantom Power สำหรับไมค์คอนเดนเซอร์ผ่าน Balanced XLR Socket แค่นั้น แต่การที่มันเป็น Combo Jack มันจึงสามารถรับหัวต่อ 1/4” TRS ได้ทั้งแบบ Balanced และ Unbalanced หรือหากว่าเราต้องการต่อกีีตาร์เพื่อบันทึกเสีียง ก็ยังสลับไปใช้อิมพีแดนซ์ขนาด 1 เมกะโอมได้ด้วย ตัวพรีแอมป์นั้นออกแบบใหม่โดย EMU เอง (รุ่นเดิมใช้ของ TF Pro Circuity) ได้นอยส์ที่ต่ำมาก และพิเศษสุดคือมีสวิตซ์สับให้เราเลือกใช้ Soft-Limiting เพื่อป้องกันการ Cliping และสร้างเอฟเฟกต์พิเศษให้กัับเสียง เมื่อเราขับมันแรง ๆ ครับ ในส่วนของ Line Input และ Output ทั้งหมด เราสามารถเลือกปรับที่ซอฟต์แวร์ ว่าจะให้เป็น +4 (Pro) หรือ -10 (Consumer) ได้ด้วย
หากเราจะเปรียบกับ 1820 แล้ว 1616 จะขาดอนาลอกอินพุทเอาท์พุทไปอย่างละ 1 คู่ ไม่มีพอร์ท FireWire และ S/PDIF Optical Out รวมไปถึงฟังก์ชัน Sync ด้วย (Wordclock I/O, SMPTE I/O และ MTC Out) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าการที่มันมี High Impedance Input สำหรับกีตาร์, Soft-Limiting และสนับสนุนแซมเปิ้ลเรทได้ครบกว่านั้น ยังน่าสนใจสำหรับนักดนตรีส่วนใหญ่มากกว่า เพราะแค่ Microdock ที่จัดการ I/O ได้ถึง 16 อิน 16 เอาท์ นั้นเพียงพอแล้ว ในการทำงานเพลงทั่วไป และออกจากมาก เมื่อเทียบกับรูปร่างเล็กกะทัดรัดของมันเสียด้วยซ้ำครับ ถ้าได้เห็นรับรองว่าจะต้องหลงรักมันในแบบเดียวกับผู้เขียนเป็น
02 Cardbus และ Microdock
ขนาดของมันนั้นพอ ๆ กับการ์ด Indigo ของทาง Echo เลยล่ะครับ คือมันจะมีส่วนที่ยื่นออกมาจากแลปทีอปนิดหน่อยเท่านั้น ที่ชอบมากคือทาง EMU ได้แนบปลอกหนังสีดำมาเพื่อให้เราพก 02 Cardbus ลุยไปทุกที่ ที่ไม่ชอบอย่างหนึ่งคือสายเชื่อมต่อระหว่างตัว Docking กับตัว Cardbus นั้นมีขนาดสั้นแค่ 1 เมตร ซึ่งสั้นกว่ารุ่น 1820 แต่ถ้าคิดในอีกแง่หนึ่ง มันจะสะดวกมาในการพกพา และนักดนตรีแลปท๊อปคงไม่ต้องการใช้งานสายที่ยาวมาก (หรือถ้าต้องการยาว ๆ ให้หาสายแลน EDI ที่ยาวกว่านั้นหน่อย มาใช้แทนได้ครับ) และก็อย่างที่เรียนในตอนแรก เราสามารถใช้งานเฉพาะ Cardbus เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องต่อเข้ากับ Dock ได้ด้วย
ในส่วนของ Microdock นั้น ออกแบบมาได้เล็กกว่า Audiodock นิดหน่อยครับ คือจะมีขนาดประมาณ 7.25 x 7.75 x 1.63 นิ้วแค่นั้น แต่หน้าตานั้นเหมือนกัน และเมื่อเราเปิดการทำงานของ Dock ตัวอักษร E ของคำว่า EMU จะมีไฟ LED สีฟ้าติดไว้ด้วย
การติดตั้ง
อย่างที่หลายคนทราบอยู่ก่อนแล้วว่าออดิโออินเตอร์เฟซของทาง EMU นั้น จะใช้ได้บนระบบปฏิบัติการ Windows แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ 1616M การติดตั้งก็ตรงไปตรงมาครับ ให้เราปิดเครื่องก่อน แล้วจึงเสียบตัว Cardbus ลงไป พร้อมเมื่อไรจึงเปิดเครื่อง จะมี New Hardware Wizard ขึ้นมาถามหาไดร์เวอร์ของอุปกรณ์ตัวใหม่ ให้เรา Cancle มันทิ้งไปก่อนที่จะรันไฟล์ Setup จากแผ่น CD-ROM ที่ติดมา การติดตั้งจะมีเมนูให้เลือกภาษาของทางฝั่งยุโรปเค้า 5 ภาษา จุดสำคัญคือการเลือกติดตั้งแบบเต็มหรือแบบ Custom ซึ่งประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์ Patchmix DSP, คู่มือและไดร์เวอร์ หรือจะติดตั้งไดร์เวอร์อย่างเดียว
การติดตั้งแบบปกติ หลังจากรีสตาร์ทเครื่องแล้วก็ไม่มีปัญหาใด ๆ สำหรับตัวผู้เขียนเอง โดยมันจะมีไอคอนของโปรแกรม Patchmix DSP โหลดขึ้นมาพร้อมกับ Windows Startup ด้วย เราสามารถเลือกตั้งค่าที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการทำงานของเรา เช่นกำหนดอินพุท เอาท์พุทที่จะใช้ ค่าแซมเปิ้ลเรท ฯลฯ และก็พร้อมจะทำงานได้เลย เพราะขั้นตอนนี้ โปรแกรมดนตรีทุกตัวจะเห็นไดร์เวอร์ของ 1616M ทั้ง Audio และ MIDI เรียบร้อย
ซอฟต์แวร์ Patchmix DSP
นอกจากเสียงที่ใสคมชัดของ EMU แล้ว สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดเกี่ยวกับอินเตอร์เฟซของ EMU ก็คือซอฟต์แวร์ Patchmix DSP นี่ล่ะครับ มันช่วยให้ระบบการทำงานของเรายืดหยุ่นมาก ๆ แม้ว่าข้อเสียของมันคือทำให้ผู้ใช้สับสนในตอนแรก แต่พอใช้งานอย่างเข้าใจแล้ว มันคือเครื่องมือที่ทำให้อินเตอร์เฟซของ EMU ต่างจากผู้ผลิตรายอื่น คิดง่าย ๆ ว่าเหมือนกับการที่เรามีฮาร์ดแวร์ดิจิตอลมิกเซอร์แยกออกมาต่างหากอีกอัน เราสามารถส่งเสียงออกจากซอฟต์แวร์ตัวโปรด มายังมิกเซอร์ตัวนี้ แล้วใช้ On-board Effect ของมิกเซอร์ได้อย่างเต็มที่ (ไม่ใช้ CPU ของเครื่องเลยแม้แต่น้อย) ก่อนที่จะส่งเสียงกลับไปยังซอฟต์แวร์ตัวเดิมอย่างไม่สูญเสียกำลังสัญญาณ เพราะเป็นดิจิตอล เรายังสามารถทำการมอนิเตอร์ของสัญญาณหรือส่งสัญญาณออกจากจุดใดจุดหนึ่งของมิกเซอร์ได้ด้วย ที่ชอบมากคือ Tone Generator ผู้เขียนมักใช้มันทดสอบระบบการทำงานได้ทันที โดยไม่ต้องโหลดซอฟต์แวร์ตัวอื่นให้ยุ่งยาก ข้อด้อยของเอฟเฟกต์ก็ยังเหมือนเดิมครับ คือ Graphic User Interface ยังทำมาได้เรียบ ๆ ไม่ใช้ประโยชน์จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เต็มที่ ซึ่งถ้าเป็นมือเก๋า ๆ หน่อย คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะใช้การฟังเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่ติดกับการใช้โปรแกรมที่แสดงผลออกมาให้ดูเป็นกราฟฟิกง่าย ๆ แล้ว จะรู้สึกว่ามันไม่น่าใช้เท่าไร และอีกข้อด้อยของเอฟเฟกต์อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องการที่มันสนับสนุนแซมปลิ้งเรทสูงสุดที่ 48 kHz เหมือนกับรุ่นอื่น ๆ ของ EMU ครับ หากงานของเราบันทึกมามากกว่านี้ จะไม่สามารถส่งมาใช้งานเอฟเฟกต์ได้ (1616M สนับสนุนแซมปลิ้งเรทได้สูงสุดถึง 192 kHz) เอฟเฟกต์ต่าง ๆ เหล่านี้ เรายังใช้มันเป็น VST Plugin โดยไม่ต้องโหลดลง Patchmix DSP ได้ด้วยนะครับ แต่ด้วยเหตุผลด้านแซมปลิ้งเรท ผู้เขียนจึงไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้มันเท่ากับปลั๊กอิน Native ตัวอื่นๆ ที่อยู่ในเครื่องเดียวกัน
1616M เป็นอินเตอร์เฟซของ EMU ตัวแรกที่สนับสนุนแซมเปิ้ลเรทที่ 88.2 และ 176.4 kHz ในหน้า Session Template จึงมาการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 44.1/48 kHz, 88.2/96 kHz และ 176.4/192 kHz พร้อม Template ใหม่ ๆ อีกมากมาย
ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานบนระบบดิจิตอลหรือผู้ที่เข้าใจกระบวนการของ DSP คงจะเข้าใจได้ว่า หาก Sample Rate สูงขึ้น ก็หมายความว่าการคำนวณจะต้องเพิ่มมากขึ้นในอัตราส่วนที่เท่ากัน กรณีของ Patchmix DSP จะมีการลดจำนวนช่องสัญญาณ ASIO ลง จากเดิม 16ช่อง จะเหลือ 8 ที่แซมเปิ้ลเรท 88/96 kHz และจะเหลือเพียงแค่ 4 ที่ 176/192 kHz และยังลดจำนวนของ Physical I/O (I/O ที่อยู่บน Dock ไม่ใช่ I/O ภายในซอฟต์แวร์) เหลือเพียง 4 x 10 และจะใช้ S/PDIF Optical I/O ไม่ได้เลย
ซอฟต์แวร์ Patchmix DSP คราวนี้นั้น ทำงานเหมือนกับรุ่น PCI ทุกอย่างครับ เพิ่มเอฟเฟกต์เข้ามาอีกนิดหน่อย ที่จะช่วยลดการทำงานของ CPU บนแลปทอปลงด้วยครับ โดยเฉพาะหากเป็นแลปทอปที่ไม่ค่อยแรงด้วยแล้ว จะมีประโยชน์มาก ๆ หรือในกรณีที่เราต้องการใส่รีเวิร์บในตอนมอนิเตอร์มิกซ์โดยไม่มีดีเลย์เลย
เกือบลืมพูดถึงซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ ในชุดที่ให้มาครบถ้วน พร้อมทำงานดนตรีได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น Cakewalk Sonar LE, Steinberg Cubase LE, Wavelab Lite, Ableton Live Lite 4 for EMU, IK Multimedia T-Racks Eq และ Amplitube LE , Minnetonka Discwelder Bronze, SFX Machine LT และ EMU Proteus X LE ตัวนี้เป็น Emulator IV/Proteus 2000 ในเวอร์ชันซอฟต์แวร์
ลงมือกันจริง ๆ เสียที
เนื่องจากเคยได้มีโอกาสใช้ 1820m มาระยะหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้สัมผัส 1616M อีกครั้ง และแม้ไม่ได้ทำงานเพลง แต่ผู้เขียนก็ยังโหลดเปียโนตัวโปรดขึ้นมาเล่นทุกวัน ลักษณะเสียงนั้นคุ้นเคยและเหมือนกันมากโดยความรู้สึก คือเหมือนกันจนแทบจะแยกไม่ออก ยกเว้นเสียแต่บันทึกด้วยไมค์ เพราะ 1616M นั้นเป็นพรีไมค์ตัวใหม่ พร้อมกับ Soft-Limitor ที่ให้เอกลักษณะของเสียงแตกต่างจากดิจิตอลอย่างชัดเจน ไม่แข็งกระด้าง เรายังสามารถใช้มันขับสัญญาณจนเกิดการ Clipping เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ให้กับเสียงได้ด้วย
เลือกใช้ฟังก์ชัน Soft Limit ด้วยซอฟต์แวร์ ผ่านหน้า Session Setting
รูปซ้ายแสดงสัญญาณอินพุท ส่วนรูปขวาแสดงสัญญาณอินพุทที่ผ่าน Soft Limiter ของ 1616M (ภาพจาก SOS ฉบับ October 2005)
ผลการทดสอบจากโปรแกรม Right Audio Analyser นั้นให้ผลเหมือนกับ 1820M เลยครับ ทำไดนามิกเรนจ์ได้ถึง 117 dBA ที่แซมเปิ้ลเรท 44.1 kHz และจะได้ถึง 118 dBA ที่ 96 kHz และ 192 kHz ค่า THD-Total Harmonic Distortion ก็ต่ำแค่ 0.0005% Stereo Crosstalk -118 dB และก็ยังมีการตอบสนองที่ลดลงในช่วงความถี่สูงเช่นเดิม แต่ก็ถือว่าน้อยกว่ารุ่น 1820m อีกครับ คือประมาณ -0.2 dB ที่ 20 kHz แต่หากใช้แซมเปิ้ลเรท 96 kHz ตัวเลขนี้จะมากขึ้นเป็น -1 dB ที่ 43 kHz และหากเราใช้แซมเปิ้ลเรท 192 kHz เราจะได้ผลที่คล้ายกันคือมีการลดทอนลงมา – 1 dB ที่ประมาณ 30 kHz ครับ ถ้าเราไม่ซีเรียสจนเกินไป ตัวเลขที่เกินมาทั้งหมดก็คือว่าไม่สำคัญเท่าไรนัก เพราะข้อมูลของเสียงที่สำคัญ ๆ จะอยู่ต่ำว่า 16 kHz ลงมาอยู่แล้วครับ
ประสิทธิภาพของไดร์เวอร์
ผู้เขียนทดสอบกับโน้ตบุคหลายเครื่อง รวมถึงเครื่อง Desktop ด้วย ซึ่งเป็นเครื่องที่มีอายุการใช้งานประมาณปีถึง 2 ปี ค่าความหน่วงที่เล่นได้โดยไม่มีเสียงแปลกปลอมจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 ms ขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์ซินธ์ที่ใช้ บน Desktop ที่ใช้เล่นเปียโนเป็นประจำจะได้ประมาณ 6 ms (ใช้ตัวแปลง PCI-PCMCIA) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ในการทำงาน Muti-track ด้วยครับ ถือว่าทำได้ดีมากทีเดียว เพราะถ้าต้องการมากกว่านี้ ขอแนะนำให้ใช้การ์ดตระกูล PCI ของทาง RME จะได้ค่าความหน่วงที่สะใจมาก
ลองทดสอบประสิทธิภาพของ MIDI ด้วยโปรแกรม MidiTest <http://earthvegaconnection.com/> ก็ได้ผลที่ดีพอสมควรครับ ไดร์เวอร์ MME MIDI ได้ค่าความหน่วงของ MIDI ประมาณ 1.05 ms Jitter ที่ประมาณ 0.22 ms ขึ้นสูงสุดที่ 0.82 ms ซึ่งก็ถือว่าสูสีกับอินเตอร์เฟซแบบ PCI โดยทั่วไป และถือว่าดีกว่าอินเตอร์เฟซแบบ USB และ FireWire ซึ่งจะมี Latency ของ MIDI อยู่ที่ประมาณ 4 ถึง 10 ms และค่า Jitter ก็จะมากกว่าคือประมาณ 0.5-4 ms ด้วยวิธีการทดสอบแบบเดียวกัน
แต่ที่น่าเซ็งสำหรับสาวกเกมวินนิ่งอิเลฟเว่นคือการที่ EMU ยังไม่ได้แก้ไขไดร์เวอร์ WDM แบบ Multi-Channel ทำให้การเล่นเกมนี้ด้วยการ์ดของ EMU จะไม่มีเสียงบรรยายนอกเสียจากเสียงบรรยากาศ, ซาวน์เอฟเฟกต์และดนตรีครับ และสำหรับคนที่ใช้ Sampler อย่าง GigaStudio 3 ก็ต้องใช้ผ่าน ReWire ครับ เพราะมันไม่สนับสนุนไดร์เวอร์แบบ GSIF เหมือนพี่น้องของมัน เข้าใจได้โดยง่ายว่า GS3 ถือเป็นคู่แข่งของ Emulator X ของทาง EMU เลยไม่จำเป็นต้องสนับสนุน
เก็บใส่กล่อง
หลังจากที่มีโอกาสอยู่กับมันนานหลายเดือน ก็ได้เวลาคืนเจ้าของเสียที นั่งนึกหาเหตุผลที่ว่าทำไมถึงต้องมี 1616M ท่ามกลาง FireWire Interface ที่ยึดหัวหาดอยู่ในขณะนี้ เหตุผลก็คงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพที่ดีกว่าทั้งเรื่องของ Audio-MIDI อีกด้วยครับ เรื่องคุณภาพเสียงของ 1616M นั้นถือว่าดีมาก ๆ ยิ่งนำมาเทียบกับราคาของมันแล้วนั้น ก็หาอะไรมาเทียบได้ยาก ถ้านับ Features พิเศษอย่าง Soft-Limiter, Turntable Preamp และ DSP Effect ด้วยแล้ว ก็ตัดคู่แข่งที่เราจะนำมาเปรียบเทียบไปได้เลย และที่ถือว่าน่าเสียดายไม่น้อย คือการที่มันไม่สนับสนุน Mac OS ที่คนดนตรีบ้านเราใช้กันเยอะพอควร ราคาของ 1616M ในบ้านเรานั้น เท่ากับราคาของ 1820M เลย (ประมาณ 29,500 บาท) ก็เป็นการชั่งใจแล้วล่ะครับ ว่า Features ต่าง ๆ ที่เพิ่มเข้ามาเติมเต็ม 1616M ให้สมบูรณ์กว่า แลกกับการที่ต้องลดจำนวนอินพุท เอาท์พุทและฟังก์ชัน Sync ลงไปบ้างนั้น แบบไหนที่จำเป็นต่อเรามากกว่า เพราะ 1616M เองก็มีรุ่นที่เป็น PCI หรือเราสามารถเพิ่มเงินอีกพันบาทสำหรับตัวแปลง PCMCIA-to-PCI มาใช้บนเครื่อง Desktop ได้เช่นกันครับ ถ้าไม่ต้องการฟังก์ชัน Sync และ I/O มากมายแล้วล่ะก็ หยิบ 1616M ไปใช้แทนกันได้เลย!!
ขอขอบคุณ Music Craft <http://www.musiccraft.com>
บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงใน The Absolute Sound & Stage
ข้อมูลฉบับย่อของ EMU 1616M
● สนับสนุนแซมเปิ้ลเรทที่ 44.1, 48, 88.2, 96, 176.4 และ 192 kHz จาก Internal Clock
● อินพุทสำหรับไมค์/กีตาร์/ไลน์ 2 ช่อง Combo Jack (Balanced XLR พร้อมสวิตซ์สำหรับไฟ 48V Phantom Power มีระยะเกน 0-65 dB และ TRS Balanced/Unbalanced 1/4” มีระยะเกน -15 ถึง 50 dB อินพุทอิมพีแดนซ์ 1 เมะกะโอมและซอฟต์ลิมิตเตอร์
● อินพุทสำหรับ Turntable: 1คู่ Phono อิมพุทอิมพีแดนซ์ 47 กิโลโอม/220 พิโคฟารัด มี ความไว 15mV RMS
● อนาลอกอินพุท: 4 ช่อง Balanced/Unbalanced Line Level TRS Jack ที่ความไว -10 dBV หรือ +4 dBu
● อนาลอกเอาท์พุท: 6 ช่อง Balanced/Unbalanced 1/4” TRS Jack ที่ -10 dBV หรือ +4 dBu สัญญาณจะถูกสำเนามายัง 3.5mm Mini Jack ออกเป็นสเตอริโอ 3 ช่อง เฮดโฟนเอาท์พุทที่การ์ดและที่ Microdock โดยที่ Dock จะมีปุ่มควบคุมความดังให้ด้วย
● Digital I/O: S/PDIF I/O, ADAT Optical (เปลี่ยนไปใช้โปรโตคอล S/PDIF ได้) และ MIDI I/O
● DSP Core Effect: 1-Band Parametric, 1-Band Shelf, 3-Band EQ, 4-Band EQ, Auto-Wah, Chorus, Compressor, Distortion, Flanger, Frequency Shifter, Leveling Amp, Lite Reverb, Mono Delay (100, 250, 500, 750 และ 1500), Stereo Reverb, Vocal Morpher
● Converter: AKM AK5394 ADC และ CS4398 Cirrus Logic DAC (รุ่น 1616M), PCM1840 ADC และ CS4392 DAC (รุ่น 1616)
● ไดนามิกเรนจ์: 120 dBA (1616M อนาลอกอินพุทและเอาท์พุท) 110 dBA (1616)
● RMS Jitter: 596 พิโควินาที ที่ 44.1 kHz โดยใช้ Internal Crystal, 795 พิโควินาทีโดยใช้ Optical Input
● การตอบสนองต่อความถี่: 20 Hz ถึง 20 kHz +0/-0.03 dB
● THD+Noise: -105 dB (0.0006%) ทดสอบด้วยสัญญาณ 1 kHz ที่ -1 dBFS
PCMCIA Chip ที่ทดสอบแล้วว่าใช้งานได้ (รุ่นอื่น ๆ ก็อาจใช้ได้ แต่ยังไม่ได้ทดสอบ)
■ ENE Technology CD-1410
■ 02 Micro OZ 6912/711E0
■ 02 Micro OZ711EC1
■ Ricoh R/RL/RT/RC/5C475 (II), R5C520
■ TI PCI-1420, PCI-1450, PCI-1520
No comments:
Post a Comment