Aug 10, 2010

Music & Coding

0 ความคิดเห็น

Music & Coding 

รู้จักนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเสียงของไทย

Norsez Orankijanan นักดนตรีอิเล็กโทรนิกส์ผู้สรรสร้าง VST Instruments 

                                                                                วีระวัฒน์ วีระประเสริฐศักดิ์
    passionsound.com
บทสัมภาษณ์ชุด Music & Coding นั้นเกิดขึ้นจากการที่ผู้เขียนสังเกตเห็นเทรนด์ของการใช้การใช้เว็บของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวล้ำไปกว่าแค่การดูข้อมูล หรือการใช้โทรศัทพ์ Smartphone ที่กลายมาเป็นอวัยวะที่ 33 ของคนยุคปัจจุบัน คนยุคใหม่ที่โตมาในยุคสมัยเดียวกับสิ่งเหล่านี้โดยไม่ได้แยกโดเมนของเรื่องราวเหล่านี้ออกเป็น ดิจิตอล - อนาลอก ออกจากกันอย่างชัดเจน คนเหล่านี้คุ้นเคยกับการเขียนโปรแกรมในระดับง่ายๆ เช่นตั้งค่าให้โปรแกรมต่างๆ ทำงานตามเงื่อนไข ไปจนถึงระดับ Geek ที่สร้างแอพพริเคชั่นซับซ้อนขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อุปกรณ์พกพาอย่าง iPhone, iPad ระบบปฏิบัติการมาแรงอย่าง Andriod และมาตรฐานเว็บใหม่อย่าง HTML5 สิ่งเหล่านี้นั้นดึงดูดการพัฒนาแอพพริเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับเสียงอย่างมากๆ 

มองย้อนกลับไป 5-6 ปีก่อน บ้านเราเคยมีคนไทยที่เคยสร้างสรรซอฟต์แวร์ในระดับ "ปรากฏการณ์" เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้คาดหวังกันมาก่อน ว่าจะมีคนไทยทำ VST Instrument ขึ้นมาใช้งานด้วยตัวเอง เนื่องจากเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านนี้นั้นเป็นเรื่องใหม่มาก วงการ Audio Developer ของต่างประเทศอันที่จริงก็เล็กมากๆ อยู่แล้ว การมีคนไทยทำอะไรแบบนี้ขึ้นมา จึงนับเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดจริงๆ ครับ 

การย้อนอดีตไปคุดขุ้ยเรื่องราวเหล่านี้ จึงวาบเข้ามาในความคิดของผู้เขียน ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่ก้าวมาในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยเฉพาะด้านเสียง และอีกส่วนหนึ่งคือการปะติปะต่อเรื่องราวที่หลายคนเกือบจะลืมๆ กันไปแล้วครับ

ขอแนะนำให้รู้จักพี่ Norsez Orankijanan นักดนตรีอิเล็กโทรนิกก้าผู้สร้างสรรงานดนตรีเต้นรำมากมายหลากหลายมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งเบเกอรี่มิวสิค (ผลงานปัจจุบันออกกับค่าย FineTune Music) และปรากฏการณ์ VST Instrument ตัวแรกของกลุ่มคนทำเพลงที่เป็นคนไทยครับ


SS: งั้นเรามาเริ่มต้นกันเลยนะครับพี่นอ

Norsez: ยินดีครับ

SS: อยากทราบจุดเริ่มของพี่นอ จากความสนใจของดนตรีนำไปสู่การเขียนโปรแกรมด้านนี้หน่อยน่ะครับ

Norsez: คิดว่าน่าจะเหมือนจากทุกคนที่สนใจดนตรีคือเริ่มจากการฟังก่อน คิดว่าเหมือนกับคนอื่นๆ แต่จุดเร่ิมต้นที่ทำให้อยากทำดนตรี มันคืออิเล็กโทรนิกส์มิวสิค อย่างนึงคือประมาณ 15-16 ปีก่อนที่ราคาของคอมพิวเตอร์บุคคลเริ่มถูก ที่บ้านก็พึ่งจะมีคอมพิวเตอร์ เลยเริ่มต้นทำงานเพลง ซอฟต์แวร์ตัวแรกที่ใช้มันมากับคอมพิวเตอร์คือ Cakewalk เวอร์ชัน 3 บน DOS บังเอิญว่าคนที่เซ็ตอัพให้พอจะรู้เรื่องพวกนี้พอดี เลยทดลองทำอะไรให้ดู ทำให้เราสงสัยว่าดนตรีอย่างของ Pet Shop Boys (ตอนนั้นชอบฟัง) น่าจะสร้างมาจากอะไรแบบนี้ ก็เลยลองทำดู น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น

SS: เท่าที่เคยคุยกับหลายๆ ท่าน ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่เวอร์ชัน 3 มันมีอะไรพิเศษหรือเปล่าครับ?

Norsez: (หัวเราะ) ผมว่าสมัยก่อนเรายังไม่ได้คิดเรื่อง Piracy ใช่มะ แล้วมันเล็กมากใส่แผ่นดิสค์เก็ตได้แผ่นเดียว แล้วโปรแกรมใช้ง่ายมาก เหมือนกับ Tracker สมัยก่อน คือทุกๆ วิวสามารถเปิดดูได้ผ่าน F1, F2, F3 ง่ายมาก ทำเพลงได้เร็วมาก ทำให้เราโฟกัสที่มิวสิค โดยที่เราไม่ต้องมานั่งคิดเรื่องการปรับแต่ง คิดเรื่องว่าเราจะทำอย่างงั้นอย่างงี้ยังไง ง่ายมากในการเริ่มต้นขึ้นเพลงโดยไม่ต้องคิดถึงสิ่งอื่น

SS: Source เสียงที่พี่ใช้ในตอนนั้นเป็น Wavetable จากซาวน์การ์ดเลยหรือเปล่าครับ?

Norsez: ตอนนั้นมันพึ่งเริ่มๆ เองอ่ะครับ (ซาวน์การ์ด) มันยังแพง ผมก็เลยเริ่มต้นใช้พวกคีย์บอร์ดเสียง GM1 สมัยก่อนผมไม่รู้เรื่องออดิโอเลย รู้จักแต่ MIDI อย่างเดียว แล้วเวลาทำเสร็จผมก็อัดลงเทป อย่างตอนที่ออดิชั่นพี่สมเกียรติ (Bekery) เนี้ย ผมก็อัดลงเทปจาก MIDI เลย

SS: โห นั่นเท่ากับเร่ิมทำเพลงได้ไม่นาน ก็ได้ดิวกับค่ายเพลงแล้วเลยนะครับ?

Norsez: ไม่นะ ก็เริ่มประมาณปีกว่าๆ (ปีกว่าๆเองนะเนี้ย? ผู้เขียน) มันเป็นช่วงเวลาที่ Bekery พึ่งตั้ง Moderndog ยังไม่ออกอัลบั้มแรก ตอนนั้นเค้าเปิด ทุกอย่างนั้น Possible หมด เค้าไม่จำกัดอะไรทั้งสิ้น ตอนนั้นพี่สมเกียรติอยากให้วงการเพลงไทยออก Single แล้วจะให้รีมิกซ์เหมือนเมืองนอก แล้วพอดีผมทำได้ เค้าเลยให้มาลอง ก็เริ่มตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกของ Moderndog เป็นรีมิกซ์ 

SS: ตอนนั้นยังเรียนอยู่?

Norsez: ตอนนั้นยังเรียนการเงินอยู่ปี 3 ที่ท่าพระจันทร์ตรับ แต่พอจบก็มาทำที่ Bekery เลย แต่หน้าที่หลักที่ผมไปทุกวันคือทำเว็บนะ ไซต์อันแรกของ Bekery เลย 

SS: นั้นก็เท่ากับว่านอกจากทำเพลง Trance ในยุคบุกเบิกแล้ว ยังทำเว็บเป็นรุ่นแรกๆ ของไทยเลยใช่ไหมครับ?

Norsez: ค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นคนทำเว็บคนแรกของ Bekery คือนับจากตอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ผมก็เขียนโปรแกรมมาโดยตลอด ภาษาแรกเลยคือ Pascal เรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วพอมา HTML ก็เห็นว่ามันไม่มีอะไร เป็นแค่ Markup ก็เลยทำเอง เพราะชอบทำอะไรด้วยตัวเอง และพี่เอื้อง สาลินี ปันยารชุนก็เห็นว่า อะ ทำได้เหรอ งั้นก็มาทำเลยสิ ก็เลยได้ทำ 

SS: หลังจากจุดนั้นพี่นอทำทั้งเพลงและเว็บที่ Bekery ไปเลย

Norsez: จำได้ว่าทำต่อไปอีกประมาณ 2 ปี แล้วต้องเลิกไป เพราะไปเรียนต่อ ซึ่งจริงๆ ตอนที่รู้เรื่องเลยคือตอนที่ไปอเมริกาแล้ว ตอนนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่สัมผัสกับคอมมูนนิตี้ ของคนคอเดียวกันบนอินเตอร์เน็ต ไปถึงผมก็ซื้อ Groovebox MC-505 ตอนนั้นในเมลลิ่งลิสต์ (ก่อนที่ฟอรั่มจะได้รับความนิยม) คนในนั้นจะ active มาก มีอะไรก็นำมาแชร์ เวลาเอาเพลงมาให้ฟังเนี้ย เค้าตั้งใจติเพื่อให้เกิดการพัฒนาจริงๆ ทำให้เราพัฒนาเร็วมาก 
 
SS: จากการติดตามงานเพลงของพี่นอ ภาพที่ผมเห็นจะเป็น Trance เป็นหลัก ความชัดเจนตรงนี้เริ่มต้นมาตอนไหนครับ

Norsez: ตั้งแต่ตอนเรียน สมัยนั้นที่ ท่าพระจันทร์มีร้านเทปแล้วพี่ที่ร้านเทปจะรู้เรื่องเพลงดีมาก เค้าจะแนะนำให้เราฟัง ตอนนั้นก็แบบพึ่งเข้ามาในเมืองไทย พอฟังแล้ว โห มัน ซาวน์มันระดับเทพนะเนี้ย (รู้ที่มาของคำว่าซาวน์ระดับเทพแล้ว เริ่มต้นเมื่อสิบกว่าปีก่อนแถวท่าพระจันทร์ ผู้เขียน) 

SS: พี่นอไปอเมริกาปี 98 ตอนปี 97 มันมีปรากฏการณ์หนึ่งคือซอฟต์แวร์ Rebirth จาก Propellerheads


Norsez: ตัวนี้นี่ (จี๊ด) ขาดไม่ได้เลยจริงๆ ถ้าสมมติว่าคุณทำแนวอิเล็กโทรนิก้าไม่เคยจับ Rebirth นี่ ผมว่าเขา "พลาด" ตอนแรกที่มันออกมานี่ โห ผมไม่เก็ตเพราะผมเป็น MIDI Guy ใช่มะ แล้วคอมพิวเตอร์มันก็ช้า  พอไปอเมริกา พวกฝรั่งมันก็สอน มันมี Culture ของมันเกี่ยวกับ Analog Synth แบบที่สมัยนี้พวกเรารู้น่ะ แต่สมัยก่อนเรายังไม่รู้ เราคิดว่ามันจำกัดมากเลยนะ พอคุยกับเค้าเราถึงจะรู้ว่าจริงๆ มันเริ่มแบบนี้ มันเป็น Music จริงๆ เหมือนดนตรีของ Bach ที่เป็น Counter Point เซ็ตอัพมันจะมีแค่ TB-303 สองตัว แล้วก็มีกลองสองอันคือ 909 กับ 808 ใช่มะ TB-303 ตัวนึงจะเล่นเบส ตัวนึงจะเล่นแนวทำนอง เป็นรากฐานของดนตรีทั้งมวล เวลามันเล่นเยอะๆ เป็น Arpeggiator มันก็เป็นคอร์ดได้ จริงๆ มันคือดนตรีคลาสสิคชัดๆ แต่อยู่บนซาวน์สมัยใหม่

Rebirth เนี้ย ถ้าใครอยากทำดนตรีอิเล็กโทรนิกส์แต่ไม่รู้จะเร่ิมยังไง การเร่ิมที่ Rebirth มันอาจดูลิมิต แต่ว่ามันเหมือนกับการที่เราไปฝึกวิทยายุทธอย่างในหนังจีน ที่มีปรมาจารย์ในหุบเขา แล้วเค้าให้เราตั้งท่าอยู่่อย่างนี้ทั้งวัน (ฮา) ผมว่าถ้ารากฐานเราดี การต่อยอดจะทำได้อีกเยอะ 

SS: พื้นฐานของ ReBirth นั้นใช้ Metaphor ของรูปแบบการทำเพลงอิเล็กโทรนิก้าโดยมีพื้นฐานจาก Gear ล้วนๆ มันไม่มีภาพที่เป็นกราฟฟิก

Norsez: ใช่ ใช่ ความจริงพี่สมเกียรติ ก็ทำเพลงในรูปแบบนี้เหมือนกัน ตอนที่ผมรู้จักใหม่ๆ ผมไปดูแกทำเพลง แล้วผมงง เพราะเค้าไม่มีคอมพิวเตอร์เลย สมัยก่อนเค้าจะมี Akai MPC ทำหน้าที่เป็น Sequencer แล้วเค้าจะมี Patchbay ต่อพ่วงคีย์บอร์ดอีก 3-4 ตัว โห คือ Old School มาก แล้วเค้าก็ซีเควนซ์ ด้วยเจ้า MPC เนี้ย คือตอนนั้นผมทำเพลงบน Cakewalk เนี้ยผมยังคิดไม่เป็น ผมก็เลยไม่เข้าใจว่าพี่สมเกียรติคิดได้ไง ที่ค่อยๆทำเพลงออกมาเป็น Pattern แล้วนำมาเรียงกัน 

SS: จากความสำเร็จของ ReBirth เนี้ย อีก 2-3 ปีต่อมาก็มีซอฟต์แวร์ระดับปรากฏการณ์จากค่ายเดิม "Reason"

Norsez: ผมว่า Propellerheads เค้าช่างคิดมาก แต่เค้าไม่ได้คิดแบบฟุ้งๆ เค้ารู้ว่าเค้าทำอะไรอยู่ผมว่านะ อย่าง ReBirth เนี้ย อาจจะเห็นไม่ชัด เพราะพวก Underground, Electronica Artists เค้าใช้กัน แต่อย่าง Reason ผมว่าเค้า Get อ่ะ ว่าจริงๆ ทำเพลง อินเตอร์เฟสมันสำคัญมากเลย อย่างพี่สมเกียรติเค้าทำงานได้ไว เพราะเค้าไม่ต้องจัดโน้นจัดนี่มาก เค้าไม่ต้องมองจอ เค้าไม่ได้มี Distraction (สิ่งอื่นๆ ที่จะมาทำให้เสียสมาธิ ผู้เขียน) อะไรอย่างอื่นเลย Reason เป็นเหมือนกล่องที่เราสามารถเล่นได้เลย ทดลองได้เลย ลองคิดถึง Workflow ของ Cakewalk แทรคไหน เสียงอะไร ยังไงตรงไหน กว่าจะเซ็ตคีย์บอร์ด กระบวนการวุ่นวายกว่า Reason ที่เปิดมาแทบจะทำได้ทันที

SS: ตอนนั้นที่กำลังเรียนอยู่ก็ Coding ไปด้วย ทำเพลงด้วยอีก

Norsez: ใช่ครับ แต่จริงๆ ก็ทำมาโดยตลอด ตอนนั้น Java มันมาละ เราก็เลยเริ่มใช้ Java อยู่เมืองนอกเวลามันเยอะ ไม่ต้องมาเสียเวลกับรถติดแบบกรุงเทพ (ฮา) ก็เลยมีเวลาทำอะไรหลายอย่าง

SS: แล้วจุดที่พี่เริ่มต้นนำ Codig มาผสมกับดนตรี พอจะจำได้ไหมครับ

Norsez: ตอนนั้นก่อนที่จะมี Reason เนี้ย ผมโดดจาก Cakewalk ไป Logic ตอนนั้น Cubase ก็มาแล้ว ไม่ว่ายังไงก็ตาม มันก็ซัพพอร์ท VST ทั้งคู่ แล้วผมว่ามันเจ๋งอ่ะ ยุคแรกๆ มันเป็นพวก Monosynth

SS: ก่อนหน้ายุคนั้นยังไม่มีอะไรที่เป็นมาตรฐานของการทำ Virtual Instrument เลยใช่ไหม

Norsez: ใช่ๆ อย่าง Sequencer อื่นของ Mac เค้าก็มีมาตรฐานของเค้าเหมือนกัน ผมว่าสมัยก่อนยังไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำนะ อย่างของ Propellerheads เค้าก็คิดว่าเรามาทำ Rewire กันดีกว่า แต่ Steinberg คิดว่าทำในระบบปลั๊กอินดีกว่า มี API มาแชร์กันดีกว่า

SS: แนวคิดของ VST ถือว่าเป็น Breakthrough ของวงการตอนนั้น?

Norsez: ใช่ เปรียบเทียบกับอินเตอร์เน็ตสมัยนี้ ที่มี API ที่เราใครต่อใครมา Access ได้ เขียน App ที่สร้างสรรโดยการใช้อะไรร่วมกันได้ 

SS: แล้ว VST ตัวแรกเป็นยังไงบ้างครับ

Norsez: เดี๋ยวนะ ผมเล่าข้ามไปนิด จริงๆ ไม่มีพื้น DSP เลย ก่อนหน้าจะไปอเมริกา ผมจะมีนิสัยชอบซินธ์ อยากได้ของใหม่ ก็ต้องเอาของเก่ามาขาย แล้วตอนนั้นอยู่อเมริกาจะง่ายมาก Ebay ก็เพิ่งเกิด ตอนนั้นผมแบบ Bid กระจาย ขายกระจาย ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนถึง KORG OASYS Card (PCI) ซึ่งเค้าจะมี SDK ให้เราเขียนโปรแกรมสร้างซินธ์เอง โดยไม่จำเป็นต้อง Coding แต่ใช้กราฟฟิกล้วนๆ แต่ใช้ได้เฉพาะบน Mac ก็ลงทุนซื้อเครื่อง Mac มาเพื่อใช้ ก็เลยนั่งลองสร้างซินธ์ในนั้นดู


SS: แนวคิดคล้ายๆ Reaktor

Norsez: ใช่ โดยเฉพาะ UI แต่ตัว OASYS ตอนนั้นเปิดให้เราเข้าถึงหน่วยเล็กที่สุดของ DSP คือ 1- Sample Delay Line คิดว่าสมัยนี้ Reaktor ก็มีแล้วล่ะ สมมติจะสร้าง Unit ใหม่ๆ ใน OASYS ก็สามารถทำได้เลย SDK ที่ว่าเนี้ย จริงๆ เค้าไม่ให้ End-User ทั่วไป เราต้องเขียนไป Sign เพื่อที่จะได้เขียนอะไรเล่น ตอนนั้น User จะเป็นกลุ่มที่ฮาร์ดคอร์มาก คือทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้เล่นอะไรบนนั้น ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

ใน OASYS นี่ เวลาจะทำอะไร เราต้องคิดเป็น Sample ผมไม่แน่ใจว่าบน Reaktor จะคิดเหมือนกันหรือเปล่า แต่การทำแบบนี้ช่วยให้เราได้ไอเดียว่าถ้าเราจะ Code VST เองเนี้ย คงต้องทำประมาณนี้ แล้วก็มีพื้นอย่างอื่นด้วย อย่างเช่น Sample Delay ใช้ได้หลายอย่าง เช่นทำ Effect Delay, Chorus มันเป็น Basic Block ของ DSP


SS: จากจุดนี้ แล้วขยับมา  VST ได้ยังไงครับ?

Norsez: ต้องพูดถึงซินธ์อันเก่าที่เคยมีแล้วขายไป มันคือ KORG ER-1 สีแดง เค้าสร้างมาเพื่อเลียนแบบเจ้า Rebirth สีน้ำเงินคือ 303 สีแดงตัวมันทำหน้าที่เป็น Phase Modulation Synthesizer ซึ่งจะสร้างเสียงแบบ Analog Drum เราก็เลยนำมาใช้แทน 909 กับ 808 โอเคเสียงอาจจะไม่เหมือน แต่เสียงมันอิเล็กโทรนิกพอที่จะเอามาใช้แทนกันได้ ซึ่งผมว่ามัน Flexible มากๆ แต่ในวันนั้นยังไม่มีปลั๊กอินที่ทำหน้าที่แบบนี้ ผมก็เลยลองเขียนขึ้นมา 

SS: ใช้เวลาเขียนนานไหมครับ ตัวแรกของพี่นอ

Norsez: ผมใช้เวลาซัมเมอร์เดียว เขียนหลายๆ อันพร้อมกัน (โห) เพราะว่าพอเราเริ่มทำไปแล้วหนึ่งตัว มันเป็นเทมเพล็ตเดียวกันที่เราจะใช้มันทำต่อได้ทันที ผมเริ่มจากเอฟเฟกต์ง่ายๆ ก่อน จาก Chorus เขียน Distortion ก่อน แล้วค่อยๆ ขยับ

SS: Distortion ของพี่นอใช้โมเดลหรือลักษณะยังไงครับ

Norsez: เป็นคลิปเปอร์มากกว่า แล้วก็ใช้พวก Tablelookup เป็นหลัก เพราะสมัยก่อนคอมพิวเตอร์มันช้า

SS: จนสุดท้ายได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น Synth ที่ใช้งานได้

Norsez: ครับ เป็น Drum Synth คือผมตั้งชื่อจากตัวละครในรามเกียรติ์ ชื่อ "องคต" คือผมคิดว่าตามตำนานมันเกี่ยวกับพื้นดิน ผมคิดว่ากลองมันต้องหนักแน่น ตัวอื่นๆ ผมจำไม่ได้แล้วว่าชื่อได้ว่าอะไร ก็จะมีเอฟเฟกต์ Chorus มี Delay มี Distortion แล้วก็มี Phaser 

SS: ตัว Drum Synth นี่เป็น Sample-Based หรือเป็น Phase Modulation  ครับ

Norsez: มันคล้ายกับ ER-1 ที่ว่ามากเลย คือมันจะมี 4 Parts ที่เป็น Sample-based เช่นเสียง Hi-hat เสียง Crash เสียง Cymbol ฯลฯ และก็มีอีก 4 Parts ที่เป็น Phase Modulation ซึ่งมันก็คล้ายๆ FM มากเลย เพียงแต่ว่า Phase Modulation มันจะฟังดูดีกว่า เพราะไม่ต้องดีลกับค่า Alias 

SS: ใช่ครับ FM ซินธ์เลี่ยง Alias ได้ยาก แต่บ้างก็ว่ามันมีเสน่ห์

Norsez: ใช่ครับ ผมว่า Alias ใน FM โอเคเลยนะ แต่ถ้าเป็น Virtual Analog จะมี Alias ไม่ได้เลย 

SS: องคตนี่มีบทบาทในงานเพลงของพี่นอบ้างไหมครับ

Norsez: ก็มีใช้พวกครับ ผมใช้ทำเสียง kick และเสียงเอฟเฟกต์เล็กน้อย อัลบั้มแรกหลังจากกลับมาเมืองไทยคืองานสุดท้ายที่ได้ใช้มัน และตอนนั้นผมก็เริ่มเขียน Java ก็เริ่มเอาสิ่งที่เขียนบน Java มาเล่นด้วยในงานเพลง แต่ว่าก็คือเป็น Sample เพราะเอามาใช้ในซีเควนเซอร์ไม่ได้

SS: Java Music App?

Norsez: มันไม่เป็น Music App หรอก มันเป็นตัวที่ใช้สร้างเสียงพายุฝนน่ะ หรือทำเสียงฝนเสียงลม

SS: อ๋อ ผมเคยเห็นจากเว็บของพี่แล้ว (http://thepractical.norsez.com) ชื่อ RainStorm


Norsez: ใช่ครับ ;D

SS: เป็น Sample-Based หรือยังไงครับ

Norsez: เป็น DSP ล้วนๆ ตอนนั้นผมตัดสินใจทิ้ง C++ แล้วก็มา Java อย่างเดียว เพราะเบื่อ Pointer และเวลา Compile มันไว แล้วผมก็ชอบฟังเสียงฝนเวลานอน จะได้ฟังตลอดเวลา ;D

SS: แล้วหลังจากนี้มีอะไรอีกไหมครับ

Norsez: หมดแล้วครับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตอนเป็นนักศึกษา มีเวลาว่างเยอะ ผมได้เรียนรู้อย่างละเล็กละน้อยจากทุกสิ่งน่ะครับ พอเรียนจบกลับมาก็เข้าสู่ชีวิตจริงและ ไม่ได้มีเวลากลับไปดูอีก เป็นช่วงเวลาที่ผมเลิกสนใจพวกฮาร์ดแวร์ทำดนตรีด้วย ซึ่งพวกนี้ถ้าจะทำได้ดีเราต้องโฟกัสกับมันเป็นเวลานานๆ 

SS: ผมยังจำได้ว่า ช่วงเวลานั้นผมเข้าไปอ่านรายละเอียดการทดลองของพี่นอมากมาย เช่นการเทียบเวฟฟอร์มที่เรนเดอร์จาก Reason ตรงๆ กับ Reason ผ่าน Rewire กับ Logic 

Norsez: ใช่ๆ คือผมว่าอันนี้เป็นอย่างหนึ่งที่วงการอิเล็กโทรนิกส์ของไทยอาจไม่มี ก็เลยไม่ค่อยโตเท่าที่ควร นอกเหนือไปจากเหตุผลที่คนไม่ค่อยฟังแล้ว อย่างคอมมูนนิตี้ที่ผมตามๆ อยู่อย่าง MC-505 หรืออย่าง Mailing List ที่ผมตามๆ อยู่อย่าง MusicDSP ซึ่งเป็นที่ผมเรียนรู้เยอะมากเกี่ยวกับการ Code สมาชิกยุคนั้น ไปก่อตั้งบริษัทอย่าง Smartelectronics หรือ FXpansion เมื่อก่อนเค้าก็อยู่ในลิสต์นี้เหมือนกัน เค้าแชร์ความรู้กันแบบไม่หวงเลย ทำให้มันไปไวมาก

แล้วเค้าจะถกกันแบบว่าด้วยเหตุด้วยผลล้วนๆ อย่างในภาพถ่ายอาจเห็นได้ด้วยตาใช่มะ แต่กับเสียงเนี้ย วิธีเดียวที่พิสูจน์กันจะๆ คือคณิตศาสตร์ หรือไม่ก็นำผลการทดลองมาเทียบกัน มีตัวเลขมาพิสูจน์ ตอนนั้นที่เถียงกันเยอะๆ เช่นทำไมดิจิตอลซินธ์ถึงเสียงสู้อนาลอกซินธ์เก่าๆ ไม่ได้ คนก็เถียงกันจริงจัง พอยท์ใหญ่ๆ ก็คือ Pitch อนาลอกมันต้องดริฟท์ และมันไม่มี Alias เลย ถึงตอนหลังๆ ตอนที่ผมจะเลิกติดตาม เค้าก็มองเห็นปัญหาว่าจะเขียน Virtual Analog Synth ต้องกำจัด Alias นะ เป็นเรื่องที่ต้องทำ 

SS: วิธีการในการกำจัด Alias?

Norsez: ทำได้หลายวิธีครับ ซอฟต์แวร์ซินธ์สมัยนี้น่าจะใช้วิธี Pulse-Train Integration ไม่ให้มันเกิน Nyquist มันจะไม่เกิด Alias เลย แต่อย่าง Environment จำกัดเช่นใน DSP ฮาร์ดแวร์เค้าอาจใช้วิธีดั้งเดิมอยู่ อย่าง Oversampling หรือ Table Lookup แบบ Smart Lookup จะประหยัด CPU มาก

SS: ศึกษามาเยอะขนาดนี้ เคยมีความคิดว่าจะทำงาน Audio Developer หรือตั้งบริษัทด้านนี้

Norsez: ผมว่าผมยังไม่มีความรู้พอที่จะทำ แต่ก็พอจะมีไอเดีย แต่อย่างที่บอก พอกลับมาเมืองไทยแล้วพบกับชีวิตจริง (ฮา) สมัยนั้นพูดขึ้นมาว่า Synthesizer คนยังอาจไม่เข้าใจเลย 

SS: ถึงวันนี้ความสนใจค่อยๆ หายไป

Norsez: จริงๆ น่ะ ความสนใจส่วนที่หายไป คือพวก Gear-Lust มากกว่า แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง DSP พอไม่ได้ Code มันก็หายเอง แต่ถ้ามีเวลากลับมาแน่นอนครับ 

SS: แสดงว่ามีไอเดียบางอย่างรอไว้แล้ว

Norsez: ไม่ถึงกับไอเดียหรอกครับ คงจะฝันมากกว่า

SS: พอจะอธิบายความฝันให้ฟังกันหน่อยได้ไหมครับ

Norsez: ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องสนอง Need ตอนนี้ของตัวเองตามเคย อย่างตอนนี้ งานประจำผม ยังไม่เกี่ยวกับงานอดิเรกผมเลย แต่พอเราเอาสมองคิดเรื่องหนึ่งโดยทิ้งอีกเรื่องหนึ่งนานๆเนี้ย พอกลับมาเราต้องมานั่งรื้อฝื้นใหม่ แบบคนถูกรถชนแล้วโคม่่า ฟื้นขึ้นมาอีกทีต้องเรียน Basic ใหม่

ผมว่าพวกซอฟต์แวร์ที่เราใช้ๆ กันอยู่เนี้ย อย่าง Logic Pro ซึ่งผมว่าเยี่ยมนะ แต่ถ้าเราไม่ใช้ทุกวัน มันก็ไม่คล่อง บางทีเรามีไอเดียเพลง พอไม่ได้ใช้โปรแกรมนานๆ กลับมาใช้ก็เหมือนเราหัดเดินเตาะแตะใหม่มันช้า ถ้าผมมีเวลา ผมอยากจะทำ Music Creation Environment ที่มันไม่ต้องการ การเซ็ตอัพ การเรียนรู้

SS: ฝันถึงเสียงที่เรียบง่ายแต่การทำนั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะจะช่วยให้คนทำงานได้เร็ว 

Norsez: ใช่ๆ มันอาจไม่ถึงกับการที่เราเอาปลั๊กมาเสียบที่หัวแล้วออกมาเป็นเพลง ไม่ถึงขนาดนั้น อาจเป็นอะไรที่ว่า ผมอาจสร้างซินธ์ที่เป็น Virtual Analog นี่แหละ แต่่มันจะต่างกันตรงที่ซินธ์ยุคก่อน เวลาจะเริ่มทุกอย่างเนี้ย ต้องเริ่มจาก Basic Element การที่เริ่มแบบนี้มันไม่ตรงกับความต้องการเรา ไม่ Inspired เรา ผมคิดว่ามันควรจะมี UI ที่เป็น Macro เหมือนกับที่คนเราไม่จำเป็นต้องเริ่มจากบวกลบคูณหาร แต่เริ่มจากแคลคูลัสได้เลย ซึ่งจริงๆแคลคูลัสมันเป็นบวกลบคูณหารที่เป็นอนันต์ใช่ไหม อยากจะให้การทำเพลงมันเริ่มจากแคลคูลัสแล้ว ไม่ใช่เริ่มจากบวกลบคูณหาร ซึ่งผมเห็นว่าวงการอื่นเค้ามีแล้ว เช่นวงการ Digital Photography เค้ามี Lightroom ถ้าสมมติเค้าจากเริ่มจากทุกอย่าง เค้าสามารถไป Photoshop ได้ถูกไหม แต่ Lightroom เนี้ยเค้ามี Tools ที่ General พอสำหรับการจัดการบางอย่างโดยที่มันไม่ Specific เกินไป ซึ่งในทาง Music เนี้ย เราไม่มีซอฟต์แวร์แบบนั้น

SS: เป็นไอเดียที่น่าสนใจมาก แต่ว่าเราจะเริ่มต้นยังไง ในเมื่อเพลงทุกเพลงต่างก็มาจากตัวโน้ต

Norsez: ผมว่าตัวโน้ตเราหลีกหนีไม่ได้ เหมือนว่าเราถ่ายรูปเราต้องมี Subject จะสื่อ สำหรับการทำเพลงมันคือการที่เราทำ Powerpoint เกี่ยวกับไอเดียของเรานั้นเอง เพื่อที่จะนำเสนอคนฟัง แต่วันนี้เราไม่มี Tools ทำเพลงแบบ Powerpoint เรากำลังทำเพลงด้วยมือของเราอยู่ การที่เรามี LightRoom เราสามารถทำ Concept ของ Session นั้นได้เหมือนกัน เราสามารถจูนสีของทุกภาพใน Session นั้นได้เหมือนกันในหนี่งคลิก แต่ในมิวสิคเราทำแบบนั้นไม่ได้เลย เราต้องเรียงอย่างละเอียด เราไม่มีอะไรที่ Macro กว่านั้น

SS: ถ้าพูดถึง Macro เรามอง Audio/MIDI Clip ที่ทำสำเร็จมาใช้ใน GarageBand  มาเทียบกันได้ไหม?
Norsez: สำหรับบางแนวได้นะ สมมติเราทำ Hip-Hop หรือ Disco น่ะ Element ที่เล็กที่สุคคือพวกนี้ แต่ถ้าสมมติเราทำ Minimal Techno หรือ GOA Trance มันไม่มี Sample เลย มันไม่มีลูป พวกที่เจ๋งจริงเค้าจะสร้างลูปของเค้าเอง 

SS: ถ้ายังงั้นไอเดียของพี่นอ มันอาจจะไม่สามารถทำเพลงได้กว้าง คืออาจต้องระบุเป็นแนวๆ แบบนี้หรือเปล่าครับ?

Norsez: ผมว่ามันจะระบุไปในระดับที่ว่า LightRoom ทำอะไรไม่ได้ แล้วเราต้องกลับไปทำที่ Photoshop แต่จะบอกว่า LightRoom ใช้กับรูปแนวนั้นแนวนี้ไม่ได้ มันก็ไม่เชิง มันเหมือนกับอะไรก็ตาม ทางสายกลางเป็นอะไรที่เราไปถึงยากที่สุด

ถ้าสมมติผมจะทำจริงๆ ผมจะต้องมาชั่งน้ำหนักว่าเครื่องมือตัวนี้ มันจะทำอะไร Specific ได้แค่ไหน หรือตรงไหนจะให้ใช้งานได้กว้าง ซึ่งผมยังไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจน เพราะยังไม่ได้เริ่มทำ แต่อยากให้มี เพราะทุกครั้งที่กลับมาทำเพลง ผมจะเริ่มได้เร็วมาก ทุกวันนี้กลับมาเปิด Logic Pro มันไม่มี Workflow เลย เริ่มได้ช้า สมมติว่าถ้าเร่ิมจาก Reason มัน Streamline มาก มันจะมี Workflow รอเราไว้แล้ว เริ่มเสียงใหม่ทำได้ในสองคลิก แต่ Logic Pro มันไม่เป็นอย่างงั้น แต่มัน General กว่า มันเลยเทียบได้กับ Photoshop

SS: ก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจจริงๆ เพราะมันเหมือนมาแทนช่องว่างที่ขาดหายไป ก็ขอให้พี่นอคิดได้ไวๆ หรือมีเวลาเริ่มต้นทำเหมือนสมัยก่อนเพื่อที่เราอาจได้ใช้เครื่องมือที่ช่วยในการทำงานดีๆ อีกเยอะ สำหรับตอนนี้ต้องขอขอบคุณพี่นอมากครับผม สวัสดีครับ

Norsez: สวัสดีครับ

สนใจทดลอง Onkot VST และผลงานอื่นๆ ของ Norsez เช่นบทความหรือแนวคิดเกี่ยวกับเพลง ดาวน์โหลดได้ฟรี ที่ http://thepractical.norsez.com หรือหากสนใจใช้งาน Logic Pro ติดต่อผู้เขียนที่ 080 201 1234 ครับ