Dec 6, 2006

Lemur: Robotic Musical Instrument

“Lemur” หรือชื่อเต็มว่า “League of electronic musical urban robots” เป็นกลุ่มศิลปินและนักเทคโนโลยีย่าน Brooklyn ที่ช่วยกันพัฒนาหุ่นยนต์ดนตรี ก่อตั้งโดยนักดนตรีและวิศวกรนามว่า Eric Zinger (ใครเล่น Max/MSP คงรู้จักเค้าดี) อย่าพึ่งเข้าใจผิดว่าคนกลุ่มนี้สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเล่นเครื่องดนตรีที่มีอยู่แล้วนะครับ ตรงกันข้าม พวกเค้าสร้างหุ่นยนต์ที่เป็นเครื่องดนตรีในตัวเอง งานเหล่านี้นั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าใช้ความรู้ เวลาและเงินทองมากแค่ไหน โชคดีที่มีผู้เห็นคุณค่าครับ พวกเค้าได้รับการสนับสนุนเงินจากหลาย ๆ แหล่ง ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์, The New York State Councils on the Arts (NYSCA), The National Endowment for the Arts (NEA), The Greenwall Foundation, The Jerome Foundation and Arts International และได้มีผู้อุปถัมภ์หลักคือ Harvestworks Digital Media Arts Center

ผลงานของพวกเค้ามีหลากหลายมากครับ ที่เห็นในภาพคือส่วนหนึ่งจากทั้งหมด หากได้ชมวิดีโอจะเห็นภาพของอุปกรณ์แต่ละชิ้นได้ชัดเจนขึ้น งานที่โดดเด่นที่สุด คือ GuitarBot ครับ จุดประสงค์หลักของการสร้าง GuitarBot ก็คือ พวกเค้าต้องการสร้างกีตาร์ที่มีการเล่นแบบสไลด์ ใช้งานได้กว้าง ตอบสนองได้ดี เล่นได้ทั้งช้าและเร็ว ควบคุมง่าย เป็นระบบโมดูลล่าร์เคลื่อนย้ายสะดวก และที่สำคัญคือเสียงต้องดีด้วย พวกเค้ายังต้องการขยายขอบเขตการเล่นกีตาร์ที่มือกีตาร์ที่เป็นมนุษย์ไม่สามารถเล่นได้ด้วย (คงต้องไปคุยกับสตีฟ วายกับโจ แซทดูก่อนนะ)

ภาพที่ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์

และกว่าจะบรรลุจุดประสงค์ทั้งหมดที่กล่าวมา พวกเค้าต้องออกแบบใหม่ถึง 3 ครั้ง โปรโตไทป์ตัวแรกใช้สายแค่เส้นเดียว กับโครงอลูมิเนียม และทำการทดลองกลไกของการสไลด์และการดีดสาย และก็ปรับเปลี่ยนแก้ไขจนตรงกับแนวคิดที่พวกเค้าต้องการจริง ๆ จากนั้นจึงเริ่มสร้างโมเดลบนโปรแกรม Vectorworks ซึ่งเป็นโปรแกรมออกแบบโมเดล 3 มิติตัวหนึ่ง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนแก้ไขการออกแบบอีกนิดหน่อย และจึงเริ่มสร้างตัวที่สองออกมา หลังจากการทดสอบแล้ว ก็ยังต้องมีจุดปรับปรุงแก้ไขในบางจุด โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของเครื่องดนตรี โดยเปลี่ยนการออกแบบในโปรแกรมแล้วนำไปสร้างตัวที่ 3 กว่าจะเสร็จออกมาอย่างที่เราเห็นในภาพครับ

GuitarBot เวอร์ชันสมบูรณ์

ในเวอร์ชันสมบูรณ์จะประกอบไปด้วยตัวกีตาร์ 4 ตัว แต่ละตัวจะมี 1 สาย ซึ่งกลไกของการสไลค์จะควบคุมโดย DC Servo Motor คอยขับเคลื่อนรอกและสายพานให้กับ Sliding Bridge ครับ

ส่วนกลไกของการดีดนั้น ประกอบไปด้วยปิ๊กกีตาร์ 4 ชิ้น ติดตั้งอยู่กับเพลาที่ควบคุมการหมุนโดย DC Servo Motor เช่นกัน ตำแหน่งของปิ๊กจะควบคุมด้วยเซนเซอร์แสงที่คอยอ่านค่าความเข้ม-สว่างของวงล้อที่อยู่ริมเพลา (ดูรูปประกอบ)

GuitarBot แต่ละตัว จะมีไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่นอกจากจะมีซอฟต์แวร์ควบคุมกลไกการทำงานบนตัว GuitarBot เองแล้ว ยังมีซอฟต์แวร์สำหรับรับสัญญาณ MIDI อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้เอง นักดนตรีสามารถควบคุมการเล่นเสียงของ GuitarBot ผ่าน MIDI ไม่ว่าจะเป็นจากคีย์บอร์ดหรือจากโปรแกรมซีเควนเซอร์ โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมพิเศษใด ๆ เลย ซึ่งหุ่นยนต์ดนตรีตัวอื่น ๆ ของทีม Lemur ก็ควบคุมด้วย MIDI ทั้งหมดเช่นเดียวกันครับ

GuitarBot แต่ละตัว จะทำการจูนแยกกันอิสระ มีระยะ Pitch 2 ออคเตฟ โดยความละเอียดของการจูนจะทำได้ในระดับเซนต์เลยทีเดียวครับ ตัว Sliding Bridge จะสามารถเลื่อนจากอีกฝั่งหนึ่ง ไปอีกฝั่งหนึ่งภายในเวลา ¼ วินาที ซึ่งจะทำให้การเล่นเป็นไปอย่างยืดหยุ่นมาก รูปแบบของการดีดสายยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก ทางผู้ออกแบบวางแผนไว้ว่าอาจเปลี่ยนจากดีดเป็นสี จิ้ม หรือใช้แท่งแก้วแบบที่มือกีตาร์บลูล์ชอบ และการที่มันเป็นโมดูลลาร์ จึงทำให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบของการติดตั้งได้อีก เช่นอาจทำโครงสร้างเป็นแบบพิระมิดโดยติดตั้งแอมป์กับลำโพงเข้าไปด้วย หรือทำเป็นหุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์มากขึ้น มาเล่นกีตาร์ในรูปแบบที่มนุษย์เองก็ไม่สามารถเล่นได้...

ยังมีสิ่งประดิษฐ์จากทีม Lemur ที่น่าสนใจอีกมากครับ ชมวิดีโอและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.lemurbots.org

สนับสนุนบทความโดย Sound & Stage

No comments: