มิกเซอร์ + USB Interface มันก็คือซาวน์การ์ดที่มีฟังก์ชัน Mixer ดี ๆ นี่เองครับ และจะดีแค่ไหน หากเราได้ซอฟต์แวร์ Cubase แถมมาด้วย...? Yamaha ใช้ประโยชน์จากการซื้อ Steinberg เมื่อ 2 ปีก่อนได้คุ้มค่ามากครับ เมื่อออก MW Series II ในราคาที่น่าจะทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ยาก
MW Series นี้มี Onboard FX (ยกเว้นรุ่น MW10C) ระบบ Routing ทีดีกว่า Audio Interface ทั่วไป (ก็เป็น Mixer นิ!) แถมยังบูรณาการกับ Cubase AI4 เน้น ๆ ที่น่าสนใจคือระบบ 1 Knob Analog Compressor ครับ (น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจาก SSL) เราน่าจะได้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์จากมันด้วย เราลองมาจำแนกรายละเอียดกันครับ
รุ่น MW8CX มี 8 อินพุท 4 พรีแอมป์ และดิจิตอลมัลติเอฟเฟกต์อย่าง Reverb, Delay, Modulation, Distortion ฯลฯ ควบคุมพารามิเตอร์ต่าง ๆ ผ่านหน้าปุ่มบนพาเนลได้เลย
รุ่น MW10C เพิ่ม Stereo Input แต่ไม่มี Onboard FX
ส่วนรุ่น MW12C MW12CX จะมีความแตกต่างอยู่ที่ มีกับไม่มี Onboard FX เช่นกันครับ ส่วนรายละเอียดของอินพุทเท่ากันคือ 12 ช่อง แบ่งออกเป็น 4 Mic/Line และ 4 Stereo Line
สำหรับ Cubase AI4 แม้จะเป็นรุ่น Cut Down มาจาก Cubase 4 แต่เราก็สามารถรันได้ถึง 48 Audio Tracks 64 MIDI Tracks พร้อม Plugin อีกจำนวนหนึ่ง และสนับสนุน VST เติมรูปแบบ กรณีที่เรามี VST จำนวนมากอยู่แล้ว และที่สำคัญคือใช้กันร่วมกับ MW Series II ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครับ เพราะออกแบบมาเพื่อสนับสนุนกันและกันอยู่แล้ว
สำหรับราคาก็
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.yamaha.com
ที่มา SonicState
Update: พอดีไปเจอข่าวของ N Series ครับ เป็น Firewire Mixer
N12
จุดเด่นที่เห็น Yamaha ยกมาคือ Effect ต่าง ๆ รวมไปถึง Preamp ที่น่าจะมีคุณภาพดีกว่า MW Series มีให้เลือกสองรุ่นคือ N12-N8 ความแตกต่างอยู่ที่จำนวนช่องสัญญาณตามรหัสรุ่นครับ
ระบบควบคุมต่าง ๆ ก็จะดีกว่าเช่นกัน อย่างการแยก Headphone Mix, Talkback, Monitor Speaker Selection และสนับสนุนการควบคุมกับ 5.1 Surround Sound
ส่วนการใช้กับ Cubase AI4 ก็จะมี Transport Control, Track Selection, Click Track On/Off, DAW Control Work Mode, Wet/Dry Monitoring, Project Tempaltes
ส่วนราคาอยู่ที่ $1,099 (n8) - $1,599 (n12) ครับ
Jul 29, 2007
[+/-] |
Yamaha MW Series II: USB 2.0 Mixing Interface |
[+/-] |
MixMeister Fusion-New DJ Performance Software |
ช่วงนี้ตรงกับงาน Summer NAMM07 พอดีครับ พยายามมองหาอะไรใหม่ ๆ โดน ๆ ก็ยังไม่เจอเท่าไร พอดีไปเจอ MixMeister Fusion เพิ่งออกมาพอดี มันเป็นซอฟต์แวร์ดีเจ ที่มี GUI เป็น Timeline เหมือนซีเควนเซอร์ แต่ใช้หน้านี้สำหรับแสดงสด เล่นได้พร้อมกันถึง 8 เพลง เปลี่ยน Pitch กับ Tempo แยกกันได้อิสระ สนับสนุน VST และไฟล์ MP3, WAV, WMA
ค่าตัว $329.95 ถูกกว่า Ableton Live เกือบครึ่ง และจะปฏิวัติวงการมากกว่านี้ หากมันออกมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ก่อนที่ Ableton Live จะพัฒนาจนถึงปัจจุบันครับ
MixMiester ยังออกเวอร์ชัน Studio คือตัดฟังก์ชันสำหรับเล่นสดทิ้งไป เหลือแต่ฟังก์ชันสำหรับทำ Audio Sequencer อย่างเดียว ในราคาเพียง $169
Update: เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เลยเห็นเวอร์ชัน Fusion+Video ทำให้มันเป็นซอฟต์แวร์ตัวแรกที่แสดงภาพและเสียงแบบตัวเดียวจบ (ซอฟต์แวร์วีเจบางตัว เล่นเสียงได้ก็จริง แต่แค่พอเล่นได้ ไม่ได้เต็มรูปแบบขนาด Fusion) แต่เท่าที่ดู ยังสนับสนุนฟอร์แมทวิดีโอไม่ได้มากเท่าไร แค่ MPEG-1 (MPG) กับ MPEG-2 (MPEG, VOB, WMV, JPG) เท่านั้น ในราคาที่เพิ่มอีก $100
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.mixmeister.com
ผ่าน Sonicstate
Jul 26, 2007
[+/-] |
Miro-Free, Open Source Internet TV |
เคยเขียนถึง Joost P2PTV ไปแล้ว ขอพูดถึงอีกทางเลือกหนึ่งที่ดูมีอนาคตไกลบ้างครับ ผมรู้จัก Miro ภายใต้ชื่อเดิมคือ Democracy Player พร้อมกับการได้รู้จัก Joost และ Vuze แต่ด้วยเหตุที่ว่าชื่อเดิมของมันน่ากลัวมาก (ใครที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันน่าจะเข้าใจได้ว่าทำไม...) ทำให้ผมเหลียวสายตามามองมัน หลังจากที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น Miro แล้ว (ดูเหมือนทางผู้สร้างเองก็เข้าใจเรื่องนี้ดี)
จุดประสงค์ในการพัฒนา Miro เพื่อสร้างแพลทฟอร์มใหม่ สำหรับการรับชมและเผยแพร่วิดีโอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จุดแข็งของมันก็คือการที่มันสนับสนุนทั้ง Podcast, RSS, BitTorrent รวมไปถึงการสืบค้นวิดีโอจากเว็บ Video Sharing ดัง ๆ อย่าง YouTube, Google Video, Veoh, Blogdigger, Revver, DailyMotion, Blip.tv ฯลฯ ได้โดยตรง เรียกได้ว่าใช้โปรแกรมนี้ตัวเดียวสำหรับชมวิดีโอเป็นหลักเลย เพราะจริง ๆ แล้ว มันใช้ Engine ของ VLC (บน Linux ใช้ของ Xine) ทำให้เราชมฟอร์แมทหลัก ๆ อย่าง QuickTime, XviD, WMV ฯลฯ ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาติดตั้ง Codec ต่าง ๆ ก่อน
อินเตอร์เฟซของ Miro บน Windows
และโปรแกรมสามารถรันบน OS หลัก ๆ อย่าง Windows, Mac OS X, Linux (อินเตอร์เฟซของแต่ละ OS แตกต่างกันนิดหน่อยดัวย โดยเฉพาะสี น่ารักมาก ๆ) เพราะเป็น Open Source มันจึงมีพัฒนาการตามจำนวนนักพัฒนาที่เข้าร่วม รวมไปถึงทุนสนับสนุนหลักจาก Participatory Culture Foundation, Applications Foundation, Mozilla Foundation ฯลฯ ทำให้มั่นใจได้เลยว่า Miro จะไปได้สวยเหมือนอย่าง Mozilla Firefox ครับ
สำหรับใครที่อยากทำ Video Podcast ก็สามารถอ่านรายละเอียดจากหน้า Creators: publish your videos the open way
ส่วนตัวแล้ว ตอนนี้ใช้ Miro เป็นโปรแกรมหลักในการรับชมวิดีโอและจะใช้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีอะไรที่ดีกว่านี้ครับ รายละเอียดที่ประทับใจคือเรื่องของประสิทธิภาพที่ดีกว่า Windows Media Player อย่างเห็นได้ชัด และรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ซื้อใจ อย่างการที่มันจดจำตำแหน่งสุดท้ายที่เราหยุดไว้ เมื่อเข้ามาดูอีก ก็จะเล่นต่อจากจุดนั้นได้เลย รวมไปถึงการที่วิดีโอที่ดาวน์โหลดเข้ามาจะเก็บอยู่ในเครื่องเรา 5 วันหลังจากชมเสร็จ และจะถูกลบโดยอัตโนมัติ นอกจากว่าเราจะเลือกที่จะเก็บไว้ถาวร
ข้อด้อยที่เห็น นอกจากการที่มันต่างจาก Joost ในเรื่องที่เราต้องดาวน์โหลดวิดีโอมาไว้ในเครื่องก่อน ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของ BitTorrent ที่ยังมีรายละเอียดไม่มากเท่ากับตัวอื่น ๆ แต่ก็พอใช้งานได้ และถ้ามีระบบ Transcode วิดีโอไปเป็นฟอร์แมทอื่น ๆ อย่าง iPod, PSP ด้วยล่ะก็ แจ๋วเลย
ดาวน์โหลด Miro ได้ที่ www.getmiro.com
0 ความคิดเห็น
Jul 25, 2007
[+/-] |
Rock Band เกมดนตรีล่าสุดที่จะเขย่าโสตประสาทคุณให้กระเจิง |
หลายคนอาจเคยได้เล่นเกมกีตาร์อย่าง Guitar Hero เกมร้องเพลงอย่าง Karaoke Revolution หรือเกมหวดกลองอย่าง DrumMania แต่จะน่าสนุกแค่ไหนครับ หากเกมทั้ง 3 นี้ จะรวมเป็นเกมเดียวกัน ดีด ตี ร้องในเพลงเดียวกัน...?
ในเมื่อแค่คิดก็มัน เล่นจริงจะมันแค่ไหน จึงเป็นที่มาให้ Harmonix Music Systems จับทั้งสามเกมมายำให้พวกเราได้ชิมกันปลายปีนี้ บนเครื่อง PS3 และ Xbox 360 (Wii ก็มาเหมือนกัน แต่อาจช้าหน่อย)
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับพวกเราคืออุปกรณ์ในการเล่นครับ กีตาร์จะเป็น Fender Stratocaster มีปุ่มบน Finger Board 5 ปุ่มแบบเดียวกับ Guitar Hero แต่มีจุดที่แตกต่างคือปุ่ม Pickup Switch และมีทั้งแบบไร้สาย กับแบบที่ต้องต่อสายให้เลือกเล่นกันด้วย
ส่วนกลองก็ไม่ธรรมดาครับ (ในฐานะ Game Controller) มี 4 แพด สำหรับใช้เป็นสแนร์ ทอม ไฮแฮท ฉาบ และมี Kick Pedal สำหรับเล่น Bass Drum อีกต่างหาก ส่วนไมโครโฟนที่ใช้ร้องเพลงนั้น เราจะใช้มันแทน Cowbell และ Tambourine ได้ด้วย
ภาพจากเกม ลีดกีตาร์อยู่ซ้าย กลองอยู่ตรงกลาง ส่วนเบสที่ทำหน้าที่เป็นริทึ่มกีตาร์ด้วยจะอยู่ขวา ส่วนนักร้องจะดูกราฟด้านบนสุดครับ ทำให้เกมนี้เล่นพร้อมกันได้ถึง 4 คน
รายชื่อเพลงที่ประกาศล่าสุดในปัจจุบัน
- "(Don't Fear) The Reaper" – Blue Öyster Cult[8]
- "Enter Sandman" – Metallica[18]
- "Go with the Flow" – Queens of the Stone Age[18]
- "In Bloom" – Nirvana[10]
- "Learn To Fly" – Foo Fighters[18]
- "Main Offender" – The Hives[8]
- "Mississippi Queen" – Mountain[8]
- "Paranoid" – Black Sabbath[10]
- "Reptilia" – The Strokes[18]
- "Rockaway Beach" – The Ramones[18]
- "Say It Ain't So" – Weezer[10]
- "Suffragette City" – David Bowie[8]
- "Tom Sawyer" – Rush[18]
- "Vasoline" – Stone Temple Pilots[18]
- "Wanted Dead or Alive" – Bon Jovi[18]
- "Won't Get Fooled Again" – The Who[10]
มีระบบดาวน์โหลดเพลงมาใส่ทีหลังได้ด้วยครับ ซึ่งในตอนนี้เท่าที่ทราบจะมีแค่เพลงเดียวคือ Who's Next – The Who
ราคานั้นอยู่ที่ประมาณ $200 ครบทั้งชุดเลย คือมีกีตาร์ กลอง ไมค์และแผ่นเกม ที่น่าน้อยใจสำหรับ Xbox 360 คือเป็นกีตาร์แบบต่อสาย ส่วนของ PS3 จะเป็นกีตาร์ไร้สายครับ
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Official Rock Band website
ค่ายเพลงบ้านเราสนเมื่อไร ติดต่อมาที่ผมได้เลยครับ รอให้มีคนจ้างทำอยู่พอดี อิอิ
ปล.ผมเคยคิดแนวเกมที่เราเป็นทั้งผู้บริหารสตูดิโอ เจ้าของค่ายเพลงและโปรดิวเซอร์พร้อมกันในคราวเดียว แต่ทำจริงนั้นคงเป็นไปได้ยาก กับทีมงานแค่ 5-10 คนในตอนนี้ แต่คาดว่าไอเดียนี้ จะถูกทำขึ้นมาจริง ๆ ในเร็ว ๆ นี้ครับ รอดูผลลัพธ์กันได้เลย
0 ความคิดเห็น
Jul 24, 2007
[+/-] |
MOTU MachFive 2 |
MachFive เป็น Sampler ที่ทำ GUI ได้งดงามมากตัวหนึ่งและเป็น 1 Window Interface การอัพเดทเป็นเวอร์ชัน 2 เป็นสิ่งที่คาดหวังกันได้ครับ ตั้งแต่เรื่องของ Sample Library 32 GB ระบบจัดการลูปที่ชื่อ LoopLab สนับสนุน Sample Format หลากหลายแพลทฟอร์ม เพิ่มระบบ Modular Synthesis ลงไป โดยมี Synth Engine อย่าง Simple Waveform และ Organ Drawbar และระบบ Modulation Matrix สิ่งเหล่านี้เป็นการยกมาตรฐานให้เท่ากับ Sampler อื่น ๆ ในท้องตลาด ต่างกันแค่เพียงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ แต่จุดที่ผมเห็นว่ามี Impact พอสมควรคือเรื่องของการสนับสนุน Vista 32-64 บิต นอกเหนือจาก Mac OSX และ XP และใครที่ซื้อหลังจากวันที่ 20 มกราคม 2005 ยังอัพเกรดได้ฟรีอีกต่างหาก ซื้อก่อนหน้านั้น ราคา $195
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ MOTU MachFive Product Page
ที่มา Futuremusic, CDM
mac, motu, musical instrument, plug-in, sampler, studio, virtual instrument, vista, VSTi, windows
0 ความคิดเห็น[+/-] |
[ข่าวประชาสัมพันธ์] Apple Pro Day Remix |
รู้สึกว่าจะจัดความสำคัญของเสียงและดนตรีไว้ท้ายสุดเลยนะเนี้ย พอเข้าใจได้ ถ้าเทียบฐานผู้ใช้และจากขนาดของอุตสาหกรรม งานมีวันที่ 13-14 กันยายน ตั้งแต่ 10.30-17.00 ที่โรงแรม Intercontinental ถ้าจำไม่ผิดก็อยู่ตรงสถานีรถไฟฟ้าชิดลม เดินมาทาง Central World ครับ
1 ความคิดเห็น
Jul 23, 2007
[+/-] |
Review: Joost |
ก้าวสู่ยุคใหม่แห่งการเผยแพร่และรับชมรายการโทรทัศน์กับ P2PTV
ตีพิมพ์ครั้งแรก Sound & Stage July 2007
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรื่องราวที่ผู้เขียนยกมาบอกเล่าใน Sound & Stage เกือบทั้งหมด มักวนเวียนอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตและการแสดงดนตรี แทบไม่เคยหรือน้อยครั้งมากครับ ที่จะบอกเล่าถึงเทคนิคหรือวิธีการเผยแพร่ผลงาน ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือรูปแบบของการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชนก่อนหน้านี้มีให้มากนัก ถึงขนาดที่ว่าในยุคก่อน ใครต้องการยึดอำนาจบริหารประเทศ ก็แค่บุกไปยึดหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ได้ ชัยชนะก็อยู่ใกล้มือแล้วล่ะครับ ต่อเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามา ทางเลือกในการเผยแพร่ผลงานก็กว้างขวางและง่ายขึ้น เพราะทั้งหมดอยู่ในรูปของไฟล์ดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ค่ายเพลง ค่ายหนังได้ ถ้ามีความสามารถพอครับ
รูปแบบการเผยแพร่ผลงานผ่านโครงข่ายดิจิตอล เอาเข้าจริง ๆ ก็มี Scheme หลัก ๆ อยู่ไม่กี่แบบครับ ตั้งแต่แบบคลาสสิคอย่าง Centralize ที่ไฟล์จะเก็บไว้ที่ Server กลาง รอให้ใครก็ตามเข้ามาดึงไป แบบเดียวกับการเรียกดูเว็บเพจหรือรับชมวิดีโอบน YouTube ในปัจจุบัน หรือแบบที่กลายเป็นคู่อริตลอดกาลของผู้ถือลิขสิทธิ์ Content คือ P2P (Peer-to-Peer) โดยในยุคแรกจะใช้ Server คอยเป็นแม่สื่อในการจับคู่ ใครอยากแชร์เพลงหรือต้องการเพลงอะไร แม่สื่อจะช่วยจับคู่ให้ แล้วคน 2 คนหรือหลายคนจะส่งไฟล์ผ่านอินเตอร์เน็ตกันตรง ๆ โดยที่ Server ไม่ต้องเก็บไฟล์เหล่านั้นเอาไว้ ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้าน Bandwidth ซึ่งเมื่อ 8 ปีก่อน Napster ใช้ Scheme นี้จนโด่งดัง และขึ้นโรงขึ้นศาลจนแพ้คดีไป เพราะแม้ไม่ได้เป็นการส่งเพลงให้ตรง ๆ แต่ทาง Napster เองถือเป็นตัวกลางที่คอยช่วยเหลือ จึงผิดเต็มประตูครับ
แผนภาพอย่างง่ายของ P2P Network
ผ่านยุค Napster ไป P2P ก็ยังไม่ตายครับ กลับมีการพัฒนาต่อโดยหลีกหนีความเป็น Centralized แบบ Napster เพื่อไม่ให้โดนเอาผิดได้ และมีให้ทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Kazaa, Limewire, imesh ฯลฯ จนมาถึง P2P Protocol ที่ถือว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการอย่าง BitTorrent (BT) ข้อดีอย่างมากของ BT คือการส่ง File ขนาดใหญ่ได้เร็วมาก ๆ ไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดทางด้านเทคนิคของทั้งหมดนะครับ เพราะไม่ใช่ประเดนของบทความนี้
จริง ๆ แล้วประวัติศาสตร์ P2P โดยสังเขปที่เล่ามาในย่อหน้าก่อนนั้น ไม่ได้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานของผู้ผลิตเท่าไร หากแต่เป็นการแชร์ไฟล์กันระหว่างผู้บริโภคด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังมีบางกรณีอย่าง BT ที่มีการใช้เผยแพร่งานจากผู้จัดทำเองบ้าง และล่าสุดกลุ่มผู้พัฒนา BitTorrent Client อย่าง Azuraus, Inc ได้พัฒนาโปรเจกต์ Vuze ขึ้นมา เพื่อผลักดันการใช้ BT อย่างถูกต้องครับ (อ่านรายละเอียดของ Vuze ท้ายบทความ)
และก็มีอีกกระแสหนึ่งที่ผู้เขียนได้ยินผ่านหูมาเมื่อ 3-4 ปีก่อน นั่นคือ Peercasting มันคือการเผยแพร่ Content แบบ Streaming แต่แทนที่จะเป็นการ Streaming จาก Server แบบเดิม ๆ ก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี P2P นั่นคือผู้รับ Streaming ต่างก็รับและส่งต่อไปให้ผู้รับคนอื่น ๆ ด้วย ช่วยลดภาระของผู้เผยแพร่ได้เช่นกัน แต่ในยุคเริ่มต้นนั้น การเผยแพร่ Content จะมีแต่เสียง เพราะใช้ Bandwidth ไม่สูงมากนัก จนมาถึงปลายปีที่แล้ว ผู้เขียนได้สัมผัสโปรแกรม Sopcast ซอฟต์แวร์ชมวิดีโอที่ใช้หลักการ Streaming แบบ P2P ช่วยให้ผู้เขียนสามารถชมรายการฟุตบอลหรือสารคดีที่ปกติแล้วในเมืองไทยต้องเสียเงินเท่านั้นถึงจะได้ชม แต่ Sopcast นั้นไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะเป็นการเผยแพร่จากผู้บริโภคด้วยกัน เท่ากับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอน แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีข้อจำกัดเลย อย่างแรกคือเรื่องของคุณภาพซึ่งยังไม่ดีมากครับ พอ ๆ กับที่เราได้รับชมจาก YouTube หรือ Google Video และช่วงแรกของการรับชม ต้องรอประมาณเกือบนาที ซึ่งต่างจาการรับชมทีวีที่เสมือนว่าดูได้ทันที (แต่ถ้าจะเทียบกับ YouTube แล้ว ยังถือว่าเร็วกว่า) และมีการกระตุกนิดหน่อยในช่วงแรก ๆ ด้วย แต่พอรับชมไปสักพักก็จะไหลลื่นมาก ๆ และอีกเรื่องคือรูปแบบของการเผยแพร่ยังคล้ายกับแบบเดิม คือสมมติว่าฟุตบอลเริ่มเตะไปแล้วครึ่งชั่วโมง ผู้เขียนต้องเริ่มดูจากจุดนั้นเหมือนทีวีแบบปกติ ไม่สามารถดูทั้งแต่เริ่มได้ แต่ถ้านับข้อดีของมัน เราก็สามารถมองข้ามจุดเหล่านี้ไปได้เลยครับ หากเรามีรายการทีวีที่ทำขึ้นมาเอง และอยากเผยแพร่ เรายังสามารถใช้ Sopcast เป็นอีกหนึ่งช่องทางได้อีกด้วย แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านคุณภาพ ผู้เขียนก็ยังมองไม่เห็นหนทางที่มันจะมาแทนที่การเผยแพร่รายการทีวีแบบดั้งเดิมได้ จนได้มารู้จักกับ Joost ครับ
แนวคิดของ Joost นั้น ไม่ได้ใหม่ล่าสุด เพราะ Sopcast และผองเพื่อนอย่าง PPLive, PPStream ฯลฯ กรุยทางมาก่อนแล้ว แต่ Joost ดึงความน่าสนใจของสื่อมวลชนได้ทั้งแต่แรกเปิดตัว เนื่องจากผู้สร้างทั้งสองคนอย่าง Niklas Zennström และ Janus Friis มีผลงานที่เชื่อฝีมือได้ทั้ง Kazaa และ Skype โดยเฉพาะ Skype ที่นอกจากจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวงการโทรศัพท์เดิม ยังทำเงินให้กับผู้สร้างทั้งสองถึง 2.6 พันล้าน US$ หลังจากขาย Skype ให้กับ eBay อีกด้วยครับ ดังนั้นมันจึงเป็นที่น่าจับตามองว่า มันจะไปได้สวยเช่นกันครับ
ดาวน์โหลดและติดตั้ง Joost
ในตอนนี้ Joost ยังอยู่ในช่วงเบต้าและยังไม่เปิดสู่สาธารณะชนเต็มที่ หมายความว่ามีผู้ใช้บางคนที่ติดตามโครงการนี้แต่แรกหรือได้รับการเชิญชวนเท่านั้นที่มีโอกาสใช้ แต่อย่างไรก็ตามครับ ผู้ใช้สามารถแนะนำต่อกันได้ไม่จำกัด ไม่แน่ว่าขณะที่ผู้อ่านกำลังอ่านบรรทัดนี้อยู่ Joost อาจเปิดให้ดาวน์โหลดอย่างเต็มตัวแล้วก็ได้ ลองเข้าไปชมเว็บได้ที่ www.joost.com หรือถ้ามันยังเป็นระบบปิดอยู่ ก็สามารถเมล์มาขอ Invite จากผู้เขียนได้ครับที่ PHz@passionsound.com คอมพิวเตอร์ที่รัน Joost ได้คือ Windows XP, Windows Vista และ Mac OSX บน Intel เท่านั้นครับ PPC ไม่สามารถใช้ได้ และบน Linux กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาครับ
ซอฟต์แวร์มีขนาดไม่ใหญ่มาก ประมาณ 10 MB เท่านั้น ติดตั้งแล้วเปิดใช้ได้ทันทีครับ กรอกรายละเอียดเหมือนสมัครอีเมล์แล้วชมสาระความบันเทิงกันได้เลย
Joost คือ Interactive TV
รูปแบบการใช้ Joost นั้นจะเน้นไปที่การเล่นแบบเต็มจอหรือโหมด Full Screen เหมือนการเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์ครับ (เลือกเล่นในโหมด Window ก็ได้ถ้าต้องการ
) เพราะการชมทีวีโดยปกติแล้วก็ดูแบบเต็มจออยู่แล้ว คุณภาพของภาพที่ได้นั้น น่าประทับใจและถือว่าดีกว่าบน Sopcast มาก ๆ ครับ ใช้เวลาโหลดเร็วมาก ๆ อาจยังไม่ถึงระดับทันทีแบบทีวีที่เราดูอยู่ทุกวัน แต่ก็เร็วมากพอ เมื่อเทียบกับ Sopcast เพียงแต่ต้องยอมรับว่ามันยังมีการกระตุกบ้างในบางช่วง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เสียอรรถรสในการชมครับ เพราะคุณภาพของภาพที่ได้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่ามันพยายามจัดการให้ได้คุณภาพต่อ Bandwidth อย่างถึงที่สุดแล้ว และจะยิ่งดีขึ้นอีกตามพัฒนาการ และถ้าเข้าใจว่าธรรมชาติของการ Streaming Media บน P2P นั้นไม่มีการรับประกันใด ๆ ในคุณภาพ (Quality of Service-QoS) อยู่แล้วครับ
หัวใจสำคัญของการ Playback คือตัวถอดรหัส CoreAVC ครับ พัฒนาโดยอ้างมาตรฐานของ M-PEG4 AVC หรือที่หลายท่านคุ้นในชื่อ H.264 ซึ่งถือเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้บน HD-DVD กับ Blu-Ray เลยครับ เพียงแต่คุณภาพไม่เท่ากัน เพราะติดข้อจำกัดในเรื่องของ Bandwidth ในการ Streaming และเพื่อให้ภาพสามารถดูได้อย่างดีบนจอ LCD ขนาดใหญ่ จึงถูกบีบอัดคุณภาพลงมาบ้าง ซึ่งถ้าถามความเห็นผู้เขียน ก็ต้องบอกว่าดีกว่า VCD และในบางช่องเป็น Widescreen คุณภาพเกือบสูสีกับ DVD เลยครับ แต่ใช้ Bandwidth ต่างกันเยอะ เพราะ Bandwidth แบบเต็มที่ของผู้เขียนอยู่ที่ประมาณ 2 Mbps ก็สามารถดูได้เป็นอย่างดี ขณะที่ DVD ใช้ Bandwidth ที่ประมาณ 5-8 Mbps เพราะเป็นมาตรฐานเก่า MPEG-2 ครับ
ข้อดีของ CoreAVC อีกอย่างคือคอมพิวเตอร์เก่ายังสามารถเล่นได้ด้วย แต่จะลดคุณภาพลงไปนิดหน่อย เท่าที่ทดสอบโดยใช้เครื่องที่ความเร็วน้อยที่สุดที่หาได้ Piii 800MHz ก็สามารถชมทีวีผ่าน LCD TV ได้อย่างไม่ติดขัดครับ
Joost Interface
ขอลงรายละเอียดขึ้นอีกระดับนะครับ เนื่องจากจุดประสงค์ของมันคือแทน TV หน้าอินเตอร์เฟซของมันจึงทำมาให้เรียบง่ายที่สุด เพราะแม้แต่มารดาของผู้เขียนซึ่งไม่ได้เป็นคนเทคโนโลยี ก็ยังใช้งาน Joost ได้สบาย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คอนโซลอยู่ด้านล่างของจอภาพ ใช้ทำทุกอย่างตั้งแต่เล่น/หยุด เลือกช่อง เลือกรายการ ขนาดของปุ่มใหญ่พอควร เห็นได้ชัดบนทีวี และเข้าใจง่าย ๆ เหมือนเครื่องเล่นดีวีดีมากกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ครับ จุดที่น่าจะเป็น Killer Feature เมื่อเทียบกับทีวีแบบเก่าคือฟังก์ชัน Search นี่แหละ อยากชมรายการแบบไหน ก็ง่ายมาก
ลืมบอกไปว่านอกจากเรื่องคุณภาพของภาพแล้ว จุดที่ดีกว่า Sopcast คือการที่มันเป็น Interactive TV จริง ๆ ครับ เราสามารถเลือกชมรายการต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เริ่มต้น และในตอนที่จะจบรายการ ก็จะมีข้อความขึ้นมาแจ้งว่ารายการต่อไปคืออะไรด้วย หรือในระหว่างทีเราเลือกรายการใหม่ รายการเดิมก็ยังคงเล่นเป็นพื้นหลังอยู่ นี่คือรูปแบบทั้งหมดที่ทีวีสมัยใหม่ควรจะเป็นเลยครับ และถ้าจะทำเผื่ออนาคตด้วย มันก็จะต้องมีระบบปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์เรื่องราวที่เราชอบดู และคอยแนะนำรายการใหม่ ๆ ที่มีเรื่องที่เราสนใจ หรือมีข้อความ Alert เมื่อมีข่าวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ณ วินาทีนั้น เฉพาะเรื่องราวที่เราสนใจด้วย เชื่อว่า Features เหล่านี้จะมีเข้ามาในอนาคตครับ เพราะมันจะเข้าไปรวมเป็นวัฒนธรรมเดียวกับ Web 3.0 และจะทิ้งห่างกับระบบทีวีแบบเดิมจนกลายเป็นโบราณวัตถุแน่นอน แต่เนื่องจากฐานผู้ใช้ทีวีระบบเก่ามีเยอะมากที่ไม่รับเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นสิบหรือยี่สิบปีครับ
Joost Channel Catalog
ส่วนซ้ายมือ My Channels คือการเข้าไปดูรายละเอียดของช่องต่าง ๆ ครับ ตอนแรกผู้เขียนคาดการณ์ไว้ว่าไม่น่าจะมีช่องให้เลือกมาก เพราะอยู่ในช่วงทดลอง แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็เกินคาดครับ เพราะมีถึง 24 ช่องในตอนเริ่มต้น ครอบคลุมตั้งแต่การ์ตูน กีฬา รถยนต์ เพลง ภาพยนตร์ สารคดี ฯลฯ ถ้าไม่จุใจ เรายังสามารถเข้าไปดูแคตตาล๊อคที่มีอยู่เกือบร้อยช่องแล้วเพิ่มเข้ามาทีหลังได้ แต่ก็คงพอจะเดากันได้ว่าคงไม่มีรายการดัง ๆ อย่างที่เราได้ดูบนเคเบิ้ลทีวีบ้านเราแน่นอน ซึ่งประเดนสำคัญแบบนี้ ผู้เขียนลองเข้าไปตรวจสอบในเว็บผู้ผลิตดู ถึงทราบทีหลังว่า จริง ๆ ก็มีช่องดัง ๆ อย่าง MTV-National Geographic ร่วมด้วย แต่ชมได้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยไม่ได้สิทธิ์ในการชมช่องดัง ๆ หลายช่องเลย เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องของการขายลิขสิทธิ์ครับ แม้จะเสียดายเล็ก ๆ แต่ก็ยังไม่หมดหวังครับ ยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ได้ในอนาคต หรือไม่แน่ว่าอาจมีผู้ใช้เอง ค้นพบช่องโหว่ให้ทุกที่สามารถชมรายการใดก็ได้ ก็เป็นได้
Joost ยังเป็น Social Network ด้วย
แม้ส่วนตัวแล้ว ไม่ได้ใช้ Social Network มากเท่าไร แต่ต้องยอมรับในวิสัยทัศน์ของผู้จัดทำ ที่ติดมันเข้าไปใน Joost ด้วยครับ เมื่อเราคลิกที่ My Joost ทางขวามือ มันจะเข้าไปยัง Dashboard ของ Joost ซึ่งเราสามารถเรียกใช้ Widgets ต่าง ๆ ที่ชอบได้ ในขั้นต้นนี้มี Widgets ให้เลือกใช้ไม่เยอะมาก แต่ก็มีแต่ตัวที่จำเป็น ไล่ตั้งแต่ News Ticker, Clock, Channel Chat, Instant Message, Advance Setting ไปจนถึง Notice Board และระบบ Invite Friends ครับ สมมติว่าเป็นคนติดทั้งทีวีและ Chat ก็ไม่ต้องขยับไปทำอะไรอย่างอื่นนอกจาก Joost เลยล่ะครับ
ส่งท้าย
ขอแสดงความชื่นชมคณะผู้จัดทำ Joost ตั้งแต่เรื่องของวิสัยทัศน์ไปจนถึงความสามารถในการพัฒนาให้เป็นจริงขึ้นมาได้ครับ จริง ๆ แล้วผลงานที่ผ่านมาโดยเฉพาะ Skype ก็ถือเป็นมาสเตอร์พีซไปแล้ว และจาก Skype เองที่ทำให้การขอทุนทำ Joost นั้น ง่ายขึ้นมาก เพราะนักลงทุนส่วนหนึ่งไม่ได้สนใจ “แนวคิด” ของงานมากไปกว่าว่า “ใคร” เป็นคนทำ แม้แต่ผู้เขียนผู้ไร้ซึ่งทีวีในชีวิตประจำวันกว่าครึ่งชีวิตแล้ว (เพราะเหตุผลอันใด คงทราบกันดี) ยังกลับมาดูรายการต่าง ๆ บน Joost บ้างถ้ามีเวลา โดยเฉพาะรายการสรุปข่าวเทคโนโลยีจากรอยเตอร์
แต่มีจุดที่ยังติดใจอยู่นิดนึงครับ อย่างแรกเลยคือยุค Web 2.0 เริ่มมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เป็นเหตุให้เว็บอย่าง YouTube, MySpace โด่งดังขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่ปีได้ แต่ Joost นั้นไม่ได้จับ Features ของ Web 2.0 มาใส่อย่างครบถ้วน จะมีก็แค่ Social Network ซึ่งที่ผู้เขียนต้องการเห็นคือการที่ใครก็ตามที่มี Video Contents สามารถแชร์ให้ทั่วโลกได้รับชมผ่าน Joost ได้ เหมือนกับที่เราทำได้บนคู่แข่งที่ด้อยและป่าเถื่อนกว่าอย่าง Sopcast หรือจะดีกว่านี้คือทำได้แม้กระทั่งทำ Embeded Player บนเว็บส่วนตัวเหมือนอย่างที่ทำได้กับเว็บแชร์วิดีโอทั่วไป Sopcast ก็มี Embeded Player เช่นกัน เข้าใจว่าที่ไม่ทำในตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องการบริหารข้อมูลซึ่งยุ่งยากกว่าเดิมอีกหลายเท่านัก แต่ถ้าทำได้จริง ๆ มันจะดีมาก ๆ ครับ เพราะคุณภาพของภาพบนเว็บแชร์วีดีโอทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่สามารถดีได้ในระดับเดียวกันกับ Joost ตอนนี้
ในวันนี้ Joost ยังมีรูปแบบคล้ายกับเคเบิ้ลทีวีอยู่มากครับ แตกต่างกันเพียงวิธีการกระจายข้อมูลเท่านั้น ดูเหมือนว่าจะทำมาแข่งกันตรง ๆ แต่มันยังมีความต่างก็ตรงที่ว่า เคเบิ้ลทีวีในประเทศใหญ่ ๆ อย่างอเมริกานั้นก้าวไปสู่ยุค HDTV แล้ว แต่ Joost ยังห่างไกลอยู่มาก ผู้เขียนจึงคิดว่า Joost น่าจะมาเน้นที่บูรณาการกับวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ต น่าจะเห็นช่องทางสดใสกว่า ทางผู้ผลิตจึงต้องทำการบ้านในเรื่องนี้อีกมาก เพื่อให้ Joost หลุดจากกรอบแนวคิดที่เหมือนกับทีวีหรือเคเบิ้ลทีวีเก่าครับ
ผู้เขียนยกเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะต้องการให้พวกเรา ทั้งตัวผมเองและท่านผู้อ่านที่ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในสายงานผลิต ได้รับทราบถึงรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้ในการเผยแพร่ผลงานครับ ในตอนนี้ Joost อาจไม่ใช่ทางเลือกในการเผยแพร่ (นอกจากว่าเราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จริง ๆ) แต่นี่คือจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดลูกหลานของ Joost ตามมาอีกอย่างแน่นอน เพราะทีวีนั้น หัวใจสำคัญคือรายการที่สามารถสื่อสารกับคนในท้องที่ต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ภาษาของตัวเองอย่างประเทศไทย คนไทยส่วนใหญ่ ก็ยังต้องการดูรายการที่เป็นภาษาไทยจริง ๆ ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้ให้บริการบ้านเราอาจนำเทคนิคนี้มาใช้ และขายในราคาที่ถูกกว่า หรือไม่ก็หาวิธีสร้างรายได้จากมันอีกหลายสิบวิธีครับ บน Joost เราสามารถดูรายการได้ฟรี แต่จะมีโฆษณาระหว่างรายการบ้าง ซึ่ง ณ เวลาที่เขียน ผู้เขียนเห็นน้อยมาก ๆ ยังห่างไกลกับทีวีไทยเยอะครับ
และแม้จะมีประโยชน์มาก แต่ก็เหมือนกับดาบสองคมครับ P2PTV ก็อาจเป็นอีกช่องทาง สมทบกับ P2P แบบเดิม ช่วยกันทำร้ายผู้ผลิตรายการได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หาก Sopcast พัฒนาคุณภาพของภาพขึ้นมาเทียบเท่า Joost ผู้ให้บริการเคเบิ้ลบ้านเรา เจ็บตัวขึ้นอีก จากเดิมที่เจ็บออด ๆ แอด ๆ อยู่แล้ว ในประเดนนี้ ผู้เขียนขอคิดง่าย ๆ ครับ ในแง่มุมของผู้บริโภค เราก็เลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ในแง่มุมของผู้ผลิตก็รู้ให้เท่าทันเกมของคนอื่น และถ้าเป็นไปได้ สร้างเกมใหม่ขึ้นมาเล่นครับ อย่างน้อยในช่วงแรก เราจะเป็นผู้นำในเกมนั้น ไม่ใช่ผู้ตาม ที่ต้องคอยเล่นตามเกมที่คนอื่นสร้างทุกครั้งไป
เกี่ยวกับ Vuze |
Vuze (ชื่อเดิมคือ Zudeo) คือ BitTorrent Client อีกตัวหนึ่ง ที่ทำขึ้นมาเพื่อยุค HD โดยเฉพาะ โดยเน้นไปที่ระบบซื้อ-เช่า HD Video Content ติด DRM แต่ใช้หลักการดาวน์โหลดแบบ P2P ผ่านโปรโตคอล BitTorrent และใช้แนวคิดของทีวีในการแบ่งช่องต่าง ๆ ออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการ Browse ดูรายการต่าง ๆ และแน่นอนครับ เราสามารถใช้มันเป็น Client ในการดาวน์โหลดข้อมูลจาก Tracker อื่น ๆ ได้ตามปกติ Vuze มีแนวทางที่ชัดเจน และน่าจะเป็นคู่แข่งสายตรงกับร้านขาย Online Content อย่าง iTunes Store หรืออื่น ๆ แต่มี Scheme ในการกระจายข้อมูลที่แตกต่าง คือแบบ P2P ครับ ข้อดีเมื่อเทียบกับ Joost คือคุณภาพของภาพและ Quality of Service แต่อย่างที่เราเข้าใจ เราไม่สามารถดู Content ได้อย่างทันทีแบบ Joost ที่เป็นลักษณะของทีวีครับ รายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดมาทดลองใช้ได้ที่ www.vuze.com |
0 ความคิดเห็น
Jul 20, 2007
[+/-] |
Moog FreqBox Demo |
น้องปิ๊ก Protocole เคยเขียนแนะนำ Freqbox ไว้แล้ว คราวนี้เราลองมาดูวิดีโอสาธิตกันครับ จัดทำโดย Robotspeak โดยป้อนสัญญาณอินพุทจาก TB-303 และกีตาร์
ผ่าน CDM
0 ความคิดเห็น
[+/-] |
iPhone to Max/MSP/Jitter Interface!! |
ไม่ว่าเราจะเป็น VJ, DJ หรือต้องการควบคุมซอฟต์แวร์ดนตรีสนุก ๆ ตอนนี้เราสามารถใช้ iPhone ควบคุม Max/MSP/Jitter ผ่าน Safari ได้แล้วครับ แกนหลักคือออบเจกต์ aka.iphone จาก Masayuki Akamatsu นักพัฒนาซอฟต์แวร์คนเดียวกับ aka.wiimote นั่นเอง
แม้ตอนนี้ youtube จะทำ embeded player ไม่ได้ แต่เราสามารถเข้าไปชมได้ผ่าน
http://actionsportsnews.eu/watch?v=ZntmJhaU1Eo&mode=related&search=
ครับ
ถ้าบังเอิญมี iPhone และเล่น Max ก็ลองโหลดออบเจกต์มาเล่นได้ที่
http://www.iamas.ac.jp/~aka/max/#aka_iphone_ex1
ตอนนี้เท่ากับว่าเราจะมี Lemur เวอร์ชัน Pocket เล่นกันแล้ว รอปีหน้ามาเมืองไทยเถอะ!!
ที่มา Create Digital Motion
--------------------------------------------------------------------------
ขอเท้าความเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา Application บน iPhone นิดนึงครับ (จำได้ว่ายังไม่ได้อธิบายไว้) คือตอนแรกที่ iPhone เปิดตัวมา นักพัฒนาทั่วโลกต่างเฝ้ารอคอย iPhone SDK เพื่อผลิตซอฟต์แวร์ใช้กัน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามคาด เพราะ Apple ไม่เปิด SDK ให้ ด้วยเหตุผลแรกคือเรื่องของระบบความปลอดภัยและความเสถียรของโทรศัพท์
โดยโปรโมทให้นักพัฒนาหันมาพัฒนา Web Application แทน เพราะ iPhone มี Safari เป็นอินเตอร์เฟซหลักอยู่แล้ว และทุกวันนี้ Web เป็น Platform ใหม่ ที่มีอนาคตสดใสมาก แต่ข้อเสียคือ Latency จะสูงว่าการรัน Application แบบ Native ซึ่งงานสร้าง Audio Content นั้น เป็นเรื่องซีเรียสพอสมควรครับ อย่างไรก็ตามอุปสรรคเป็นด่านแรกของความสร้างสรรค์ครับ เชื่อเหล่านักพัฒนากำลังช่วยกันผลักดันหลายสิ่งหลายอย่างให้ทะลุขีดจำกัดตรงนี้ไปได้ เริ่มจาก aka.iphone นี่ล่ะครับ
0 ความคิดเห็น
Jul 12, 2007
Jul 11, 2007
[+/-] |
เว็บ 2.0 เพื่อคนมัลติมีเดีย |
ตั้งแต่ตอนแรกที่ผู้เขียนหันมาศึกษาด้านเว็บอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็พยายามมองหาเว็บใหม่ ๆ ที่เหมาะสมสำหรับคนดนตรีและมัลติมีเดียในยุคเว็บ 2.0 ที่ไม่ใช่แค่อัพโหลดเพลงของตัวเอง และให้คนอื่น ๆ มาแชร์ความเห็น แต่หมายถึงการที่เราสามารถนำเพลงของคนอื่น ๆ รวมทั้งของเราเองมา “ยำ” (Remix) ได้บนเว็บ และนำไปแชร์ต่อให้คนอื่น ๆ สามารถเข้าร่วมกระบวนการสร้างสรรค์งานดนตรีร่วมกัน แบบแนวคิดของซอฟต์แวร์โอเพ็นซอร์ส
ในตอนนี้แม้จะไม่เห็นเว็บที่มีแนวคิดแบบนั้นตรง ๆ แต่ก็เริ่มเห็นสิ่งที่ให้เคียงครับ คือเป็นเว็บที่ให้ผู้ใช้สามารถแชร์ ตัดต่อ และรีมิกซ์วิดีโอของคนอื่นได้ ขอแนะนำ JumpCut.com
อินเตอร์เฟซของ JumpCut.com หน้าตาคล้ายโปรแกรม iMovie จาก Apple
โปรเจกต์ใหญ่แบบนี้ จำเป็นต้องมี Backup ใหญ่ด้วยครับ JumpCut.com เป็นของ Yahoo เป็นเว็บแชร์วิดีโอที่ก้าวหน้าที่สุดในตอนที่เขียนข้อความนี้อยู่ สามารถตัดต่อได้อย่างง่าย ๆ ใส่เสียง เล่นเอฟเฟกต์ได้ ดูจากรูปก็พอจะเดากันได้ครับ ว่ามันเรียบง่ายเพียงไร
ยังมีเว็บที่คล้าย ๆ กันอยู่บ้างอย่าง MotionBox.com เราสามารถตัดต่อวิดีโอของตัวเองผ่านเว็บได้ แต่ไม่มีสิทธิในการตัดต่อของคนอื่นครับ ของ YouTube ก็เริ่มใส่ Features ให้เราสามารถตัดต่อวิดีโอได้เช่นกันครับ (ถ้าเข้าได้) ลองพิมพ์ไปที่ www.youtube.com/ytremixer_about ได้ยักษ์อย่าง Adobe มาช่วยพัฒนาให้ แต่ก็ยังใช้งานได้ไม่ดีนักครับ เพราะพึ่งเริ่มต้น เว็บสุดท้าย EyeSpot.com เป็นเว็บที่ไม่ได้เน้นการตัดต่อ แต่เน้นไปที่ Remix และ Mashup อย่างง่าย ๆ ได้
เห็นแบบนี้แล้ว ก็เริ่มมีความหวังว่าจะมีเว็บ 2.0 ตัวใหม่ ที่มีระบบ Multi-Track Remixing-Recording ได้ในเร็ววันครับ
ยังมีเว็บ 2.0 อื่น ๆ อีกเช่น SoundSnap.com สร้างขึ้นมาด้วยแนวคิด “YouTube of Sounds” ปัจจุบันมีซาวน์ไลบรารี่ ทั้ง SFX และ Loops คุณภาพสูงให้ดาวน์โหลดไปใช้กับงานของเราได้กว่า 30,000 เสียง และมากขึ้นตามกาลเวลาครับ เสียงจะถูกแบ่งตามหมวดหมู่ของการใช้งาน และมีระบบ Tags อีกด้วย ค้นหาสะดวกมาก ระบบพรีวิวก็เรียบง่ายเช่นกันครับ ฟอร์แมทหลักที่ใช้ก็มีทั้ง mp3, wav, aiff แค่ลองเข้าไป Browse เล่น ๆ เพียง 5 นาทีก็ติดใจได้เลย เพราะนอกจากผลลัพธ์ที่น่าพอใจแล้ว เรายังสามารถนำมาใช้ในงานของเราได้ฟรี ๆ ด้วยครับ ข้อแม้เดียวคือเราห้ามนำมันไปขายโดยปราศจากการ Transform ไปเป็นรูปแบบอื่น ๆ อย่างเช่นนำไปใช้ประกอบหนังหรือนำไปแต่งเพลงได้ แต่ไม่สามารถดาวน์โหลดมาให้ครบแผ่น CD แล้วนำไปขายครับ
Freesound Project มี Features พิเศษอย่าง Remix Trees ซึ่งจะแสดงลิสต์ของเสียงที่ถูกนำมารีมิกซ์เป็นแผนภาพต้นไม้ ช่วยให้เราสามารถสืบค้นที่มาที่ไปได้ และยังมี Geotags สำหรับค้นหาเสียงจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างในรูปเป็นเสียงกบที่แอฟริกาใต้
นอกจากเว็บ SoundSnap.com แล้ว ยังมีเว็บแชร์เสียงที่เคยแนะนำไปก่อนหน้าอย่าง Freesound Project (แชร์ Sound Samples http://freesound.iua.upf.edu/) และ ccMixter (เต็มเพลงหรือแทรคที่นำไปใช้ Remix ต่อ http://ccmixter.org/) ทั้งสองเว็บนี้เป็น License แบบ Creative Common ขณะที่ SoundSnap นั้น เป็น License ของทางเว็บเอง คือนำไปใช้ได้ฟรี แต่เสียงเหล่านั้น ก็ยังเป็นของเจ้าของผลงานอยู่ครับ และที่สำคัญต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญของการแบ่งปัน เมื่อเรา “รับ” มาเท่าไร ก็อย่าลืมที่จะ “ให้” คืนกลับไปด้วยนะครับ สังคมจะร่มเย็นเป็นสุข หากทุกคนสามารถ “ให้” ได้มากกว่าหรืออย่างน้อย เท่ากับที่ได้รับมาครับ
ที่มา blog.macroart.net, CDM
สนับสนุนข่าวสารโดย Sound & Stage
1 ความคิดเห็น
Jul 6, 2007
[+/-] |
ร้องคาราโอเกะได้ทุกเพลงกับ Hercules Karaoke Console |
Hercules เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยคนไทยที่ไปทำงานในอเมริกาเมื่อ 20 ปีก่อน เริ่มต้นกับการทำการ์ดจอตัวแรกบน PC ในวันนี้แม้ว่าจะโอนสัญชาติเป็นของฝรั่งเศสแล้ว แต่ก็ยังคงเอาดีด้านการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเน้นไปทางการ์ดเสียงแทน และพ่วงอุปกรณ์ Wi-Fi, ลำโพง, เว็บแคมเข้าไปด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ดูโดดเด่นคือ Hercules DJ Console ซึ่งผนวกเอาแนวคิดของซาวน์การ์ด+ดีเจคอนโทรลเลอร์+ดีเจซอฟต์แวร์เข้าด้วยกันเป็นรายแรก (ก่อนหน้านี้อาจมี แต่ไม่ไดทำมาเป็นเนื้อเดียวกัน) และจากการที่ผู้เขียนคลุกคลีอยู่กับ DJ Console หลายเดือน หลากรุ่น ก็พอจะเห็นว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่เล่นสนุกได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะเป็นดีเจหน้าใหม่ก็ตาม
DJ Console
ยังมีผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่งที่ผู้เขียนได้มาทดลองใช้ มันเป็นผลิตภัณฑ์แบบคอมซูมเมอร์ ทำขึ้นมาเพื่อความบันเทิงส่วนตัวภายในบ้าน ใช้แนวคิดคล้ายกับ DJ Console หากแต่เปลี่ยนจากดีเจมาเป็นการร้องเพลงแทน ชื่อว่า Karaoke Console ครับ
ประกอบไปด้วยคอนโซลอย่างที่เราเห็นในภาพ เราจะใช้มันควบคุมฟังก์ชันสำคัญอย่าง Transpot ควบคุมการเล่น/หยุด บันทึก ไปจนถึงการปรับระดับเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงหลักหรือเสียงดนตรี หรือการเปลี่ยน Pitch (คีย์ของดนตรี) ความเร็วของดนตรี ไปจนถึงปรับเอฟเฟกต์ Echo/Reverb ตัดเสียงร้องของเพลงเดิมออก ไปจนถึงการทริกเกอร์เสียงประกอบอย่างเสียงตบมือ เสียงหัวเราะ โห่ ฮา และเอฟเฟกต์สำหรับเปลี่ยนเสียงร้องของเราเป็นเสียงหุ่นยนต์ เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง และที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือไมโครโฟนพร้อมสายที่แถมมาให้ด้วยเลย ส่วนหัวใจสำคัญคือซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นฟรีแวร์ที่ชื่อ KaraFun ครับ เราจึงดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีที่ http://www.karafun.com รายละเอียดของมัน เราจะมาว่ากันต่อไป ซอฟต์แวร์ KaraFun นั้นยังมีเวอร์ชันที่ต้องเสียเงินซื้อด้วย ชื่อ KaraFun Studio เพิ่มความสามารถในการเก็บพารามิเตอร์อย่าง Pitch, Tempo ฯลฯ ของแต่ละเพลงไว้ได้ รวมไปถึงการที่เราสามารถนำมันไปใช้ในเชิงการค้าได้ เช่นเปิดร้านคาราโอเกะ เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าตัวซอฟต์แวร์เป็นของฟรี แต่การที่เราใช้ Karaoke Console นั้นจะมีข้อดีอย่างเช่น มันเป็นระบบ All in One หรือตัวเดียวจบ หลังจากแกะกล่องแล้วติดตั้ง เราก็สามารถสนุกกับมันได้ทันที เพราะมีอุปกรณ์พื้นฐานอย่างไมค์มาให้พร้อมแล้ว และระบบควบคุมบนคอนโซลก็ทำให้การเล่นเพลง ร้องเพลงด้วย KaraFun นั้น สะดวกกว่าการไม่มีครับ
รายละเอียดทางด้านฮาร์ดแวร์
ในเมื่อ Karaoke Console เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อคนทั่วไป ไม่ใช่คนทำงานด้านเสียงเป็นอาชีพเป็นหลัก ผมก็จะขออฺธิบายรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ในมุมมองของผู้ใช้ทั่วไปเป็นหลักครับ เริ่มจากระบบอินพุท-เอาท์พุทก่อน ซึ่งจะมีให้ใช้ในแบบที่คนทั่วไปนิยมใช้ทังหมดครับ ที่ด้านหลังจะมีแบบ RCA และ mini Jack ทั้งขาเข้าและขาออก รวมถึง USB สำหรับต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องต่อไฟจากภายนอก ส่วนด้านหน้าจะมีอินพุท 2 ช่องแบบ 1/4” สำหรับต่อไมค์กับเอาท์พุทแบบ 1/4” เช่นกัน สำหรับต่อเฮดโฟนซึ่งจะมีปุ่มหมุนควบคุมระดับสัญญาณทั้ง 3 ช่องด้านหน้าด้วยครับ สะดวกมาก ขณะที่ด้านหลังใช้เป็นเอาท์พุทหลัก จะปรับระดับความดังที่ตัวซอฟต์แวร์เอา
ส่วนที่หน้าพาเนลนั้น ไม่มีสีสันจากไฟ LED เหมือนกับ DJ Console ครับ เป็นหน้าเรียบ ๆ พร้อมปุ่มควบคุมวางอยู่เป็นกลุ่ม ๆ เข้าใจง่ายโดยเฉพาะคนทำงานด้านเสียง ผู้เขียนลองเอา Karaoke Console ไปให้กลุ่มเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้ทำงานด้านเสียงดู ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย ปรากฏว่าส่วนใหญ่แล้วจะกลัวกับการที่มันมีปุ่มมากมาย และคำอธิบายบนปุ่มอย่าง Music Pitch หรือ Mask Left Voice นั้น ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจ แสดงว่าคนที่จะใช้มันได้เป็นอย่างดีก็ควรจะต้องเป็นคนชอบเล่นเกี่ยวกับเสียงมาก่อน หรือรักที่จะเรียนรู้จากการอ่านอยู่เสียหน่อย หรืออย่างน้อยควรสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จากตัวแทนจำหน่ายเสียก่อนครับ
และ Hercules ก็ยังรักษาเอกลักษณ์ทางด้านฮาร์ดแวร์ของตัวเองไว้อย่างดีครับ คือไม่ทำปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องเหมือนเดิม ซึ่งคิดอีกแง่หนึ่ง ก็อาจไม่จำเป็นก็ได้ เพราะเค้าออกแบบมาเพื่อใช้เป็นซาวน์การ์ด หมายความว่าให้เราเสียบกับคอมไว้ใช้งานตลอดเวลาอยู่แล้ว
เกือบลืมอธิบายสิ่งสำคัญอย่างไมโครโฟนครับ ในมุมมองของคนหากินอยู่กับเสียง มันก็อาจดูไม่โปรนัก แต่มันก็ยังแข็งแรงและผลลัพธ์ของเสียงก็ยังดีกว่าไมค์ตามคาราโอเกะทั่ว ๆ ไปเสียอีก (ใช้เอฟเฟกต์ Echo-Reverb ของโปรแกรมช่วยด้วย) แต่ทั้งนี้ระบบเสียงจะดี ต้องดีทั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางซึ่งก็คือระบบขยายเสียงและลำโพงด้วยครับ
รายละเอียดของการติดตั้งและซอฟต์แวร์
เนื่องจากความตั้งใจของผู้ผลิตเพื่อให้ทุกอย่างง่ายและตัวเดียวจบอยู่แล้ว การติดตั้งจึงเรียบง่าย แค่คลิก เสียบแล้วก็คลิก ซอฟต์แวร์จะมีสองส่วนคือส่วนที่เป็นไดร์เวอร์กับ KaraFun ในแผ่นซีดีที่แถมมายังมีซอฟต์แวร์ Cyberlink PowerDVD พร้อมเลขซีเรียลติดมาให้ด้วย เพื่อใช้เป็นตัวเล่นแผ่น DVD สำหรับสนับสนุน KaraFun ให้เล่น DVD ได้แม้ว่าทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะเล่นดีวีดีได้อยู่แล้ว ก็ถือเป็นความรอบคอบของทางผู้ผลิตเองครับ
หลังการติดตั้งเสร็จสิ้น ซอฟต์แวร์ส่วนแรกที่เราต้องทำความเข้าใจคือ Control Panel ซึ่งหน้าตาก็เป็นเอกลักษณ์ของทาง Hercules เองอยู่แล้ว การปรับแต่งก็เข้าใจได้โดยง่ายครับ หากเรากดปุ่มบนคอนโซลเอง ก็จะมีผลแสดงทางหน้า Control Panel ด้วย ฟังก์ชั่น Karaoke ทางด้านขวาจะเป็นส่วนที่เราต้องใช้บ่อยสุดเลยทีเดียว
อีกหน้าที่เหลือคือ Mixer กับ About ครับ Mixer น่าจะเป็นส่วนที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ทีนี้ก็มาถึงซอฟต์แวร์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเล่นเพลงคาราโอเกะเสียที KaraFun…
อินเตอร์เฟซดูคล้ายโปรแกรมเล่นมัลติมีเดียยอดนิยมอย่าง Winamp ที่มีลักษณะเป็นโมดูลาร์ เราสามารถเลือกปิดหรือเปิดในบางส่วนได้ และแน่นอนครับ เปลี่ยนสกินได้เหมือน Winamp วิธีการเพิ่มเพลงก็ทำได้คล้ายกัน คือมีปุ่ม Add หรือใช้บราวเซอร์ หรือลากเพลงจากข้างนอกเข้ามาได้เลย ส่วนฟอร์แมทไฟล์ที่สนับสนุนนั้น กว้างมาก ๆ นอกจากฟอร์แมทของโปรแกรมเองแล้ว ไฟล์มีเดียพื้นฐานอย่าง MIDI, MP3, Wav, Avi, Ogg, Mpeg, WMV ฯลฯ มากมายเกินกว่าจะยกมากล่าวทั้งหมด
กรณีที่เรามีจอแสดงผลสองจอ และต้องการให้จอหนึ่งเป็นตัวแสดงภาพและเนื้อเพลงให้นักร้อง ก็จะมีส่วนให้เราเลือกปรับแต่งในส่วนนี้อย่างง่าย ๆ ด้วย และหลังจากการสำรวจ Features คร่าว ๆ ของโปรแกรมรวมถึงการลองฟังเพลงตัวอย่างที่มีมาให้ ก็เกิดอาการคันปาก อยากเสียบไมค์แล้วร้องเพลงทันที
ร้องเถอะ ร้องเพลง ถ้าอยากจะร้องก็ร้องไป...
หัวใจสำคัญของระบบนี้คือการที่เรานำเพลงอะไรก็ได้ที่เรามี มาเล่นโดยโปรแกรมจะตัดเสียงร้องนำออกไป แล้วเราร้องตามได้ทันที หรือหากต้องการ เรายังสามารถปรับ Pitch (คีย์) เพลงรวมไปถึง Tempo เพื่อให้ลงกับรูปแบบการร้องของเราด้วย ฟังก์ชันการตัดเสียงจะใช้วิธีการหักล้างของเฟส กล่าวคือมีการเลื่อนเฟสของช่องสัญญาณข้างหนึ่งออกไปอีก 180 องศา แล้วเสียงของนักร้องนำที่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลางของสเตอริโอฟิลด์จะหายไป โชคไม่ดีที่เสียงบางอย่างเช่นเสียง Kick Drum หรือเสียงเบส ที่เอนจิเนียร์มักจะมิกซ์ให้อยู่ตรงกลางเพื่อความแน่น ก็จะหายไปด้วย เราจึงต้องหาจุดลงตัวระหว่างการที่เสียงร้องหายไป กับเครื่องดนตรีที่หายไป เพลงที่ผู้เขียนเห็นว่าได้ผลมาก ๆ ในการตัดเสียงร้องออกคือเพลงประเภทที่มีเปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลัก หรือเพลงใดก็ตามที่เครื่องดนตรีแบ็คอัพไม่กองอยู่ตรงกลาง เสียงดนตรีจะใกล้เคียงของเดิมรวมไปถึงเสียงร้องประสานก็ยังอยู่ ทำให้ร้องเพลงสนุกมากครับ
(ภาพซ้าย) ฟังก์ชันตัดเสียงของ KaraFun (ภาพขวา) ฟังก์ชันตัดเสียงของ Karaoke Console
มีจุดที่ผู้เขียนแอบสังเกตเห็นเกี่ยวกับฟังก์ชันตัดเสียงก็คือ มันจะมีสองส่วนแยกกันครับ คือส่วนของโปรแกรม KaraFun กับส่วนของ Karaoke Console ผู้เขียนลองทดสอบเพื่อเปรียบเทียบกันดูพบว่าฟังก์ชันตัดเสียงของ KaraFun นั้น ให้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่า Karaoke Console โดยเสียงที่ตัดจาก KaraFun นั้น ออกมากว้างจนเกินไป จับมิติไม่ได้ อาการเหมือนกับตอนที่เราต่อขั้วลำโพงข้างใดข้างหนึ่งผิดไป ฟังแล้วเหมือนกับหูของเรามีปัญหากับการได้ยิน ส่วนเสียงที่ตัดจาก Karaoke Console ยังมีโฟกัสให้จับต้องได้ แม้เราจะได้ยินเอฟเฟกต์จากการเลื่อนเฟสชัดเจน แต่ก็ยังถือว่าพอรับได้และฟังดีกว่าการตัดเสียงของซอฟต์แวร์ KaraFun มาก นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนที่ชอบ KaraFun ซึ่งเป็นของฟรี ต้องควักเงินซื้อ Karaoke Console มาใช้ครับ
ส่วนฟังก์ชันการเปลี่ยนคีย์หรือ Pitch Shift นั้นก็แยกกันเช่นกัน หากเราไปเพิ่มของ KaraFun 2 เซมิโทน และไปเพิ่มที่ Control Panel อีก 2 เซมิโทน ก็จะกลายเป็นเพิ่ม 4 เซมิโทน แต่เมื่อนำมาเทียบกันแบบ A/B Test ก็พบว่าคาแรกเตอร์ของเสียงนั้นต่างกันเล็กน้อย ซึ่งผู้เขียนเองไม่สามารถชี้เฉพาะไปได้ว่าของอะไรดีกว่ากัน เพราะใกล้เคียงกันมาก เพียงแต่บน KaraFun จะปรับได้ถึง +/- 6 เซมิโทน ซึ่งถ้าเพิ่มถึง 6 เสียงที่ได้ก็เริ่มฟังแล้วเสียอารมณ์แล้วล่ะครับ ส่วนบน Karaoke Console จะปรับได้เพียง +/- 4 เซมิโทนเท่านั้น
และที่ปรับได้อีกอย่างหนึ่งคือฟังก์ชัน Tempo จะใช้ร่วมกัน คือจากโปรแกรม KaraFun เป็นหลักครับ เข้าใจว่าทางผู้ผลิตเองทำการบ้านมาอย่างดีว่าจะใช้แบบไหนเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด
สำหรับเอฟเฟกต์สำหรับเสียงร้องของเรานั้น ตัวหลักคือ Echo-Reverb ซึ่งผลลัพธ์อาจไม่ดีเท่าเอฟเฟกต์รีเวิร์บระดับโปรที่เราคุ้นเคยกัน แต่มันก็ดีพอสำหรับการร้องเพลงของเรา ช่วยส่งให้เสียงมีชีวิตมากขึ้น ขณะที่เวลาที่ผู้เขียนจำใจไปพบปะเพื่อนฝูงตามร้านคาราโอเกะแบบมาตรฐานไปจนถึงชั้นดี ก็ยังรู้สึกเซ็งกับผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไป ส่วนเอฟเฟกต์ของเสียงอื่น ๆ เช่นเสียงหุ่นยนต์ เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิงนั้น น่าจะเอาไว้ใช้ดึงดูดคนทั่วไปในตอนที่กำลังตัดสินใจซื้อหรือใช้แกล้งตอนเพื่อนร้องเพลงมากกว่าที่เราจะใช้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่เหตุผลในเรื่องความหน่วงซึ่งมีมากระดับหนึ่ง ไปจนถึงการควบคุมระดับ Pitch
ส่วนฟังก์ชันอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ระหว่างการเล่นก็คือการเปิดเสียง Special Effect อย่างเสียงตรบมือ เสียงกรี๊ด หรือจะเสียงโห่ ฮาต่าง ๆ ประมาณ 5 เสียง ซึ่งหากเราจะนำมันไปเทียบกับเสียงที่เราได้จาก MIDI คีย์บอร์ดเวิร์กสเตชั่นทั่วไป ก็ถือว่าด้อยกว่า แต่ที่น่าเสียดายมากกว่านั้นคือการที่ผู้ใช้อย่างเรา ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนเสียงเหล่านี้ได้เองด้วย นี่อาจเป็นฟังก์ชันแถมมาให้ขำ ๆ แบบเดียวกับเอฟเฟกต์เสียงร้องก็เป็นได้ครับ คือมีมาให้สนุก ๆ ดีกว่าไม่มีเลยครับ
อยากทำ Karaoke มาร้องเอง…?
คงจะมีคำถามใหญ่ตามมาว่า หากเราสามารถนำเพลงอะไรก็ได้มาตัดเสียงร้องได้ แล้วเราจะใส่เนื้อร้องเข้าไปเองได้อย่างไร ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ต้องขอบคุณทางผู้ผลิตซอฟต์แวร์ KaraFun ครับ ที่สร้างตัว Editor มาให้ด้วย
ซอฟต์แวร์อิดิเตอร์จะช่วยเราประกอบเพลง เนื้อเพลง ภาพนิ่ง เข้าด้วยกันเป็นวิดีโอคาราโอเกะในแบบที่เราคุ้นเคย ข้อดีคือการใช้งานที่ค่อนข้างง่าย โดยเฉพาะคนทำงานด้านนี้อยู่แล้ว หรือหากแม้นเปิดมาแล้วยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ก็ยังมี Tutorial ในการทำผ่านอินเตอร์เน็ต เสียดายอยู่นิดก็ตรงที่เราไม่สามารถใช้ไฟล์วิดีโอมาประกอบได้ รวมไปถึงการลากไฟล์เพลงและรูปภาพลงไปในโปรเจกต์ได้อย่างง่าย ๆ เหมือนซอฟต์แวร์ทั่วๆไป เราต้องทำการเพิ่มไฟล์ที่ต้องการนำมาใช้ลงไลบรารี่เสียก่อน จึงจะใช้ได้ มีเอฟเฟกต์สำหรับการเล่นกับภาพและตัวอักษรนิดหน่อย โดยจะเน้นไปที่ตัวอักษรมากกว่า เพราะจุดประสงค์เพื่อทำคาราโอเกะให้เราร้องเพลง และผลลัพธ์ที่ได้ก็สนุกและน่าดึงดุดไม่น้อยเลยครับ เพราะถ้าเราทำดี ๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ทำให้ร้องเพลงได้สนุกขึ้น ระยะเวลาที่ใช้ในการทำคาราโอเกะหนึ่งชิ้น น่าจะอยู่ที่ราวๆครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงต่อเพลง เพราะเป็นงานที่ใช้ความละเอียดในการวางตัวอักษรให้ตรงกับทำนองที่เล่นอยู่ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างลูกเล่นให้ภาพนิ่งและตัวอักษรมีชีวิตชีวาพร้อม ๆ กับความสวยงาม ซึ่งถ้าเป็นมืออาชีพที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว การทำงาน 1 ชั่วโมงเพื่อการร้องเพลง 3-4 นาที อาจดูไม่คุ้มค่าเสียเท่าไร แต่หากเราให้ระบบนี้แก่หลาน ๆ ที่อยู่ในวัยประถมไปจนถึงมัธยมต้น ระบบนี้น่าจะเป็นประตูทางเข้าไปสู่โลกแห่งการสร้างดิจิตอลมัลติมีเดียคอนเทนต์ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะครับ เพราะไม่มีเครื่องมือให้เลือกใช้จนมากเกินไป เหมือนกับเครื่องมือที่มืออาชีพอย่างเรา ๆ ใช้ ทั้งยังให้ผลลัพธ์ที่ทำให้คนทำและคนเสพย์ผลลัพธ์พอใจสนุกสนานอีกด้วย
แขวนไมค์
แม้โดยส่วนตัวจะเป็นคนชอบร้องเพลงกับดนตรีสดมากกว่า แต่ก็ยอมรับว่า Karaoke console เป็นเครื่องมือที่เล่นสนุกและคนรอบข้างก็พลอยสนุกไปด้วย (ขึ้นอยู่กับว่าใครร้องด้วยนะครับ อิอิ) ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้น่าจะเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับ Hercules ในวงการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ในยุคที่ MP3 Player เป็นที่นิยมมาก ๆ อย่างทุกวันนี้ ด้วยความที่ตัวเดียวจบ จะช่วยให้ End User ไม่ต้องคิดมากในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์มาใช้ในระบบ ผลลัพธ์ที่ได้มาก็ถือว่าคุ้มเงินที่ต้องจ่ายไป (ขึ้นอยู่กับส่วนอื่น ๆ อย่างลำโพงที่ใช้ด้วยครับ ว่าจะช่วยให้เราคุ้มค่าหรือขาดทุน) มันเหมาะที่จะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ใช้กันตามบ้านหรือตามสำนักงานที่ชอบปาร์ตี้คาราโอเกะ และผู้ที่มีเพลงอยู่ในคอมเยอะ ๆ และชอบที่จะร้องคลอไปกับเพลง ซึ่ง Karaoke Console จะช่วยเสริมความสนุกให้เพิ่มขึ้นไปอีกระดับ การทำคาราโอเกะจาก MP3 ด้วยตัวเอง ก็สนุกทั้งคนทำและคนร้อง หากแต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว เวลาที่ใช้ไปกับสิ่งที่ได้มาไม่เท่ากัน เราก็ยังสามารถสนุกกับมันง่าย ๆ ด้วยการเปิดเนื้อเพลงจากอินเตอร์เน็ตแล้วร้องตามได้เลย โดยไม่ต้องสนใจตัวอักษรหวือหวา เพราะความสนุกจากการร้องเล่นเต้นรำนั้น มากกว่าอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม Karaoke Console นั้น ยังมีส่วนที่เครื่องไม่สามารถให้เราได้เหมือนอย่าง DJ Console ครับ DJ Console ยังมีระบบ Auto Mix ที่จะช่วยปรับจังหวะเพลงให้เข้ากันโดยง่าย แต่ Karaoke Console ไม่ได้มีระบบ Auto Tune เพื่อไม่ให้เสียงเพี้ยน ดังนั้นถ้าร้องไม่ดี ก็ให้โทษตัวเอง จะมาโทษเครื่องไม่ได้นะเออ!!
ขอขอบคุณพี่โจแห่ง Pro Plugin (www.proplugin.com) สำหรับการให้ยืมเครื่องมาทดสอบครับ
ความต้องการระบบขั้นต่ำ
- Pentium III หรือ Athlon 800 MHz ขึ้นไป
- พอร์ท USB 2.0 หรือ USB 1.1
- RAM 128 MB หรือสูงกว่า
- MS-Windows XP
- การ์ดจอที่สนับสนุน Direct 3D
- เฮดโฟนหรือลำโพงหนึ่งคู่
ตีพิมพ์ลงใน Sound & Stage ฉบับ March 2007
0 ความคิดเห็น
Jul 1, 2007
[+/-] |
Sounddesign in Transformer |
เชื่อว่า Passionsoundian หลายท่านคงไม่พลาดหนังเรื่องนี้เป็นแน่ ผมเพิ่งไปดูมาสด ๆ ร้อน ๆ ประทับใจมาก กับทุกอย่างที่เกิดขึ้น จึงขอนำมาเปิดประเดนคุยกัน โดยพยายามไม่ Spoil เนื้อหา หรือน้อยที่สุดครับ
เรื่อง Sound Design ของหนังเรื่องนี้ทำให้ประทับใจทั้งแต่ Logo ของ Paramount กับ Dreamwork แล้วล่ะครับ เพราะปกติ Logo Paramount มักจะไม่มีเสียง แต่หนังเรื่องนี้ใส่เสียงลงไปด้วย ช่วยเรียกน้ำย่อยให้เข้าใจได้ว่า "เตรียมเจอสุดยอดแห่งเสียงต่อจากนี้ได้เลย"
ตัว Soundtrack นั้นทำได้ดีสมมาตรฐานหนังใหญ่อยู่แล้ว แต่ Sound Design นั้นโดดเด่นมาก พยายามฟังเพื่อจับผิดเท่าไร ก็หาไม่เจอ คือเนียนมาก ๆ ครับ เสียงใสคมชัด และผ่านการโปรเซสมาจนได้เสียงที่ Unique ไม่มีอันไหนที่รู้สึกว่าเป็น Lo-fi หลุดมาเลย มีอยู่ตอนหนึ่งเท่านั้น ที่เสียงการแปลงร่างของหุ่นยนต์ ไล่บันได้เสียงขึ้น ฟังแล้วฮาดี แม้ว่ามันอาจเกิดขึ้นยาก แต่ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ (ชมวิดีโอ) ต้องชม Sound Desinger เลยว่า ทำออกมาได้ดีและยังน่าฟังมาก
ส่วนถ้าใครฟังเพลงมาเยอะ ๆ หน่อย น่าจะชอบตอนที่รถพระเอกแซวเวลาที่อยู่กับนางเอก อารมณ์เดียวกับตอนที่ดีเจวิทยุ เปิดเพลงที่เราถูกใจ
มุกเกือบทั้งหมด ดีมาก ๆ ครับ เข้าใจได้ทั้งโลกและแนบเนียนไปกับ Lifestyle ของคนในปัจจุบัน แม้เนื้อหาจะออกไปทางการ์ตูน และบางตอนก็ดูไม่ Logical แต่ผมเองก็ดูเอาสนุก เอามัน และเป็นหนังที่สุดยอดในดวงใจ ระดับเดียวกับตอนที่ได้ดู The Terminator 2 และ ID4 เลยครับ
ขอยคุณทีมงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความสนุกสนานในการดูหนังหุ่นยนต์แบบเดียวกับสมัยยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ปล อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบเวลาดูหนังไฮเทค นั้นก็คือเรื่องของ GUI ของโปรแกรม ที่รู้อยู่เต็มอกว่า Fake แต่เราก็อยากรู้ว่า Designer คิดยังไงบ้าง หนังเรื่องนี้ทำได้ถูกใจครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เป็น Application ในการถอดรหัสเสียงด้วย เราจึงเห็น Waveform เท่ ๆ บนโปรแกรมสวย ๆ ที่ชอบที่สุดคือ GUI ของ Hacker ซึ่งมี Visual Art สวยงามมาก ๆ ยังกับไม่ใช่โปรแกรมของ Hacker แน่ะ เพราะ Hacker ส่วนใหญ่นั้น Text-Based ลูกเดียวครับ
0 ความคิดเห็น