ก้าวสู่ยุคใหม่แห่งการเผยแพร่และรับชมรายการโทรทัศน์กับ P2PTV
ตีพิมพ์ครั้งแรก Sound & Stage July 2007
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรื่องราวที่ผู้เขียนยกมาบอกเล่าใน Sound & Stage เกือบทั้งหมด มักวนเวียนอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตและการแสดงดนตรี แทบไม่เคยหรือน้อยครั้งมากครับ ที่จะบอกเล่าถึงเทคนิคหรือวิธีการเผยแพร่ผลงาน ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือรูปแบบของการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชนก่อนหน้านี้มีให้มากนัก ถึงขนาดที่ว่าในยุคก่อน ใครต้องการยึดอำนาจบริหารประเทศ ก็แค่บุกไปยึดหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ได้ ชัยชนะก็อยู่ใกล้มือแล้วล่ะครับ ต่อเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามา ทางเลือกในการเผยแพร่ผลงานก็กว้างขวางและง่ายขึ้น เพราะทั้งหมดอยู่ในรูปของไฟล์ดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ค่ายเพลง ค่ายหนังได้ ถ้ามีความสามารถพอครับ
รูปแบบการเผยแพร่ผลงานผ่านโครงข่ายดิจิตอล เอาเข้าจริง ๆ ก็มี Scheme หลัก ๆ อยู่ไม่กี่แบบครับ ตั้งแต่แบบคลาสสิคอย่าง Centralize ที่ไฟล์จะเก็บไว้ที่ Server กลาง รอให้ใครก็ตามเข้ามาดึงไป แบบเดียวกับการเรียกดูเว็บเพจหรือรับชมวิดีโอบน YouTube ในปัจจุบัน หรือแบบที่กลายเป็นคู่อริตลอดกาลของผู้ถือลิขสิทธิ์ Content คือ P2P (Peer-to-Peer) โดยในยุคแรกจะใช้ Server คอยเป็นแม่สื่อในการจับคู่ ใครอยากแชร์เพลงหรือต้องการเพลงอะไร แม่สื่อจะช่วยจับคู่ให้ แล้วคน 2 คนหรือหลายคนจะส่งไฟล์ผ่านอินเตอร์เน็ตกันตรง ๆ โดยที่ Server ไม่ต้องเก็บไฟล์เหล่านั้นเอาไว้ ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้าน Bandwidth ซึ่งเมื่อ 8 ปีก่อน Napster ใช้ Scheme นี้จนโด่งดัง และขึ้นโรงขึ้นศาลจนแพ้คดีไป เพราะแม้ไม่ได้เป็นการส่งเพลงให้ตรง ๆ แต่ทาง Napster เองถือเป็นตัวกลางที่คอยช่วยเหลือ จึงผิดเต็มประตูครับ
แผนภาพอย่างง่ายของ P2P Network
ผ่านยุค Napster ไป P2P ก็ยังไม่ตายครับ กลับมีการพัฒนาต่อโดยหลีกหนีความเป็น Centralized แบบ Napster เพื่อไม่ให้โดนเอาผิดได้ และมีให้ทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Kazaa, Limewire, imesh ฯลฯ จนมาถึง P2P Protocol ที่ถือว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการอย่าง BitTorrent (BT) ข้อดีอย่างมากของ BT คือการส่ง File ขนาดใหญ่ได้เร็วมาก ๆ ไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดทางด้านเทคนิคของทั้งหมดนะครับ เพราะไม่ใช่ประเดนของบทความนี้
จริง ๆ แล้วประวัติศาสตร์ P2P โดยสังเขปที่เล่ามาในย่อหน้าก่อนนั้น ไม่ได้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานของผู้ผลิตเท่าไร หากแต่เป็นการแชร์ไฟล์กันระหว่างผู้บริโภคด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังมีบางกรณีอย่าง BT ที่มีการใช้เผยแพร่งานจากผู้จัดทำเองบ้าง และล่าสุดกลุ่มผู้พัฒนา BitTorrent Client อย่าง Azuraus, Inc ได้พัฒนาโปรเจกต์ Vuze ขึ้นมา เพื่อผลักดันการใช้ BT อย่างถูกต้องครับ (อ่านรายละเอียดของ Vuze ท้ายบทความ)
และก็มีอีกกระแสหนึ่งที่ผู้เขียนได้ยินผ่านหูมาเมื่อ 3-4 ปีก่อน นั่นคือ Peercasting มันคือการเผยแพร่ Content แบบ Streaming แต่แทนที่จะเป็นการ Streaming จาก Server แบบเดิม ๆ ก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี P2P นั่นคือผู้รับ Streaming ต่างก็รับและส่งต่อไปให้ผู้รับคนอื่น ๆ ด้วย ช่วยลดภาระของผู้เผยแพร่ได้เช่นกัน แต่ในยุคเริ่มต้นนั้น การเผยแพร่ Content จะมีแต่เสียง เพราะใช้ Bandwidth ไม่สูงมากนัก จนมาถึงปลายปีที่แล้ว ผู้เขียนได้สัมผัสโปรแกรม Sopcast ซอฟต์แวร์ชมวิดีโอที่ใช้หลักการ Streaming แบบ P2P ช่วยให้ผู้เขียนสามารถชมรายการฟุตบอลหรือสารคดีที่ปกติแล้วในเมืองไทยต้องเสียเงินเท่านั้นถึงจะได้ชม แต่ Sopcast นั้นไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะเป็นการเผยแพร่จากผู้บริโภคด้วยกัน เท่ากับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอน แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีข้อจำกัดเลย อย่างแรกคือเรื่องของคุณภาพซึ่งยังไม่ดีมากครับ พอ ๆ กับที่เราได้รับชมจาก YouTube หรือ Google Video และช่วงแรกของการรับชม ต้องรอประมาณเกือบนาที ซึ่งต่างจาการรับชมทีวีที่เสมือนว่าดูได้ทันที (แต่ถ้าจะเทียบกับ YouTube แล้ว ยังถือว่าเร็วกว่า) และมีการกระตุกนิดหน่อยในช่วงแรก ๆ ด้วย แต่พอรับชมไปสักพักก็จะไหลลื่นมาก ๆ และอีกเรื่องคือรูปแบบของการเผยแพร่ยังคล้ายกับแบบเดิม คือสมมติว่าฟุตบอลเริ่มเตะไปแล้วครึ่งชั่วโมง ผู้เขียนต้องเริ่มดูจากจุดนั้นเหมือนทีวีแบบปกติ ไม่สามารถดูทั้งแต่เริ่มได้ แต่ถ้านับข้อดีของมัน เราก็สามารถมองข้ามจุดเหล่านี้ไปได้เลยครับ หากเรามีรายการทีวีที่ทำขึ้นมาเอง และอยากเผยแพร่ เรายังสามารถใช้ Sopcast เป็นอีกหนึ่งช่องทางได้อีกด้วย แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านคุณภาพ ผู้เขียนก็ยังมองไม่เห็นหนทางที่มันจะมาแทนที่การเผยแพร่รายการทีวีแบบดั้งเดิมได้ จนได้มารู้จักกับ Joost ครับ
แนวคิดของ Joost นั้น ไม่ได้ใหม่ล่าสุด เพราะ Sopcast และผองเพื่อนอย่าง PPLive, PPStream ฯลฯ กรุยทางมาก่อนแล้ว แต่ Joost ดึงความน่าสนใจของสื่อมวลชนได้ทั้งแต่แรกเปิดตัว เนื่องจากผู้สร้างทั้งสองคนอย่าง Niklas Zennström และ Janus Friis มีผลงานที่เชื่อฝีมือได้ทั้ง Kazaa และ Skype โดยเฉพาะ Skype ที่นอกจากจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวงการโทรศัพท์เดิม ยังทำเงินให้กับผู้สร้างทั้งสองถึง 2.6 พันล้าน US$ หลังจากขาย Skype ให้กับ eBay อีกด้วยครับ ดังนั้นมันจึงเป็นที่น่าจับตามองว่า มันจะไปได้สวยเช่นกันครับ
ดาวน์โหลดและติดตั้ง Joost
ในตอนนี้ Joost ยังอยู่ในช่วงเบต้าและยังไม่เปิดสู่สาธารณะชนเต็มที่ หมายความว่ามีผู้ใช้บางคนที่ติดตามโครงการนี้แต่แรกหรือได้รับการเชิญชวนเท่านั้นที่มีโอกาสใช้ แต่อย่างไรก็ตามครับ ผู้ใช้สามารถแนะนำต่อกันได้ไม่จำกัด ไม่แน่ว่าขณะที่ผู้อ่านกำลังอ่านบรรทัดนี้อยู่ Joost อาจเปิดให้ดาวน์โหลดอย่างเต็มตัวแล้วก็ได้ ลองเข้าไปชมเว็บได้ที่ www.joost.com หรือถ้ามันยังเป็นระบบปิดอยู่ ก็สามารถเมล์มาขอ Invite จากผู้เขียนได้ครับที่ PHz@passionsound.com คอมพิวเตอร์ที่รัน Joost ได้คือ Windows XP, Windows Vista และ Mac OSX บน Intel เท่านั้นครับ PPC ไม่สามารถใช้ได้ และบน Linux กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาครับ
ซอฟต์แวร์มีขนาดไม่ใหญ่มาก ประมาณ 10 MB เท่านั้น ติดตั้งแล้วเปิดใช้ได้ทันทีครับ กรอกรายละเอียดเหมือนสมัครอีเมล์แล้วชมสาระความบันเทิงกันได้เลย
Joost คือ Interactive TV
รูปแบบการใช้ Joost นั้นจะเน้นไปที่การเล่นแบบเต็มจอหรือโหมด Full Screen เหมือนการเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์ครับ (เลือกเล่นในโหมด Window ก็ได้ถ้าต้องการ
) เพราะการชมทีวีโดยปกติแล้วก็ดูแบบเต็มจออยู่แล้ว คุณภาพของภาพที่ได้นั้น น่าประทับใจและถือว่าดีกว่าบน Sopcast มาก ๆ ครับ ใช้เวลาโหลดเร็วมาก ๆ อาจยังไม่ถึงระดับทันทีแบบทีวีที่เราดูอยู่ทุกวัน แต่ก็เร็วมากพอ เมื่อเทียบกับ Sopcast เพียงแต่ต้องยอมรับว่ามันยังมีการกระตุกบ้างในบางช่วง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เสียอรรถรสในการชมครับ เพราะคุณภาพของภาพที่ได้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่ามันพยายามจัดการให้ได้คุณภาพต่อ Bandwidth อย่างถึงที่สุดแล้ว และจะยิ่งดีขึ้นอีกตามพัฒนาการ และถ้าเข้าใจว่าธรรมชาติของการ Streaming Media บน P2P นั้นไม่มีการรับประกันใด ๆ ในคุณภาพ (Quality of Service-QoS) อยู่แล้วครับ
หัวใจสำคัญของการ Playback คือตัวถอดรหัส CoreAVC ครับ พัฒนาโดยอ้างมาตรฐานของ M-PEG4 AVC หรือที่หลายท่านคุ้นในชื่อ H.264 ซึ่งถือเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้บน HD-DVD กับ Blu-Ray เลยครับ เพียงแต่คุณภาพไม่เท่ากัน เพราะติดข้อจำกัดในเรื่องของ Bandwidth ในการ Streaming และเพื่อให้ภาพสามารถดูได้อย่างดีบนจอ LCD ขนาดใหญ่ จึงถูกบีบอัดคุณภาพลงมาบ้าง ซึ่งถ้าถามความเห็นผู้เขียน ก็ต้องบอกว่าดีกว่า VCD และในบางช่องเป็น Widescreen คุณภาพเกือบสูสีกับ DVD เลยครับ แต่ใช้ Bandwidth ต่างกันเยอะ เพราะ Bandwidth แบบเต็มที่ของผู้เขียนอยู่ที่ประมาณ 2 Mbps ก็สามารถดูได้เป็นอย่างดี ขณะที่ DVD ใช้ Bandwidth ที่ประมาณ 5-8 Mbps เพราะเป็นมาตรฐานเก่า MPEG-2 ครับ
ข้อดีของ CoreAVC อีกอย่างคือคอมพิวเตอร์เก่ายังสามารถเล่นได้ด้วย แต่จะลดคุณภาพลงไปนิดหน่อย เท่าที่ทดสอบโดยใช้เครื่องที่ความเร็วน้อยที่สุดที่หาได้ Piii 800MHz ก็สามารถชมทีวีผ่าน LCD TV ได้อย่างไม่ติดขัดครับ
Joost Interface
ขอลงรายละเอียดขึ้นอีกระดับนะครับ เนื่องจากจุดประสงค์ของมันคือแทน TV หน้าอินเตอร์เฟซของมันจึงทำมาให้เรียบง่ายที่สุด เพราะแม้แต่มารดาของผู้เขียนซึ่งไม่ได้เป็นคนเทคโนโลยี ก็ยังใช้งาน Joost ได้สบาย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คอนโซลอยู่ด้านล่างของจอภาพ ใช้ทำทุกอย่างตั้งแต่เล่น/หยุด เลือกช่อง เลือกรายการ ขนาดของปุ่มใหญ่พอควร เห็นได้ชัดบนทีวี และเข้าใจง่าย ๆ เหมือนเครื่องเล่นดีวีดีมากกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ครับ จุดที่น่าจะเป็น Killer Feature เมื่อเทียบกับทีวีแบบเก่าคือฟังก์ชัน Search นี่แหละ อยากชมรายการแบบไหน ก็ง่ายมาก
ลืมบอกไปว่านอกจากเรื่องคุณภาพของภาพแล้ว จุดที่ดีกว่า Sopcast คือการที่มันเป็น Interactive TV จริง ๆ ครับ เราสามารถเลือกชมรายการต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เริ่มต้น และในตอนที่จะจบรายการ ก็จะมีข้อความขึ้นมาแจ้งว่ารายการต่อไปคืออะไรด้วย หรือในระหว่างทีเราเลือกรายการใหม่ รายการเดิมก็ยังคงเล่นเป็นพื้นหลังอยู่ นี่คือรูปแบบทั้งหมดที่ทีวีสมัยใหม่ควรจะเป็นเลยครับ และถ้าจะทำเผื่ออนาคตด้วย มันก็จะต้องมีระบบปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์เรื่องราวที่เราชอบดู และคอยแนะนำรายการใหม่ ๆ ที่มีเรื่องที่เราสนใจ หรือมีข้อความ Alert เมื่อมีข่าวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ณ วินาทีนั้น เฉพาะเรื่องราวที่เราสนใจด้วย เชื่อว่า Features เหล่านี้จะมีเข้ามาในอนาคตครับ เพราะมันจะเข้าไปรวมเป็นวัฒนธรรมเดียวกับ Web 3.0 และจะทิ้งห่างกับระบบทีวีแบบเดิมจนกลายเป็นโบราณวัตถุแน่นอน แต่เนื่องจากฐานผู้ใช้ทีวีระบบเก่ามีเยอะมากที่ไม่รับเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นสิบหรือยี่สิบปีครับ
Joost Channel Catalog
ส่วนซ้ายมือ My Channels คือการเข้าไปดูรายละเอียดของช่องต่าง ๆ ครับ ตอนแรกผู้เขียนคาดการณ์ไว้ว่าไม่น่าจะมีช่องให้เลือกมาก เพราะอยู่ในช่วงทดลอง แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็เกินคาดครับ เพราะมีถึง 24 ช่องในตอนเริ่มต้น ครอบคลุมตั้งแต่การ์ตูน กีฬา รถยนต์ เพลง ภาพยนตร์ สารคดี ฯลฯ ถ้าไม่จุใจ เรายังสามารถเข้าไปดูแคตตาล๊อคที่มีอยู่เกือบร้อยช่องแล้วเพิ่มเข้ามาทีหลังได้ แต่ก็คงพอจะเดากันได้ว่าคงไม่มีรายการดัง ๆ อย่างที่เราได้ดูบนเคเบิ้ลทีวีบ้านเราแน่นอน ซึ่งประเดนสำคัญแบบนี้ ผู้เขียนลองเข้าไปตรวจสอบในเว็บผู้ผลิตดู ถึงทราบทีหลังว่า จริง ๆ ก็มีช่องดัง ๆ อย่าง MTV-National Geographic ร่วมด้วย แต่ชมได้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยไม่ได้สิทธิ์ในการชมช่องดัง ๆ หลายช่องเลย เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องของการขายลิขสิทธิ์ครับ แม้จะเสียดายเล็ก ๆ แต่ก็ยังไม่หมดหวังครับ ยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ได้ในอนาคต หรือไม่แน่ว่าอาจมีผู้ใช้เอง ค้นพบช่องโหว่ให้ทุกที่สามารถชมรายการใดก็ได้ ก็เป็นได้
Joost ยังเป็น Social Network ด้วย
แม้ส่วนตัวแล้ว ไม่ได้ใช้ Social Network มากเท่าไร แต่ต้องยอมรับในวิสัยทัศน์ของผู้จัดทำ ที่ติดมันเข้าไปใน Joost ด้วยครับ เมื่อเราคลิกที่ My Joost ทางขวามือ มันจะเข้าไปยัง Dashboard ของ Joost ซึ่งเราสามารถเรียกใช้ Widgets ต่าง ๆ ที่ชอบได้ ในขั้นต้นนี้มี Widgets ให้เลือกใช้ไม่เยอะมาก แต่ก็มีแต่ตัวที่จำเป็น ไล่ตั้งแต่ News Ticker, Clock, Channel Chat, Instant Message, Advance Setting ไปจนถึง Notice Board และระบบ Invite Friends ครับ สมมติว่าเป็นคนติดทั้งทีวีและ Chat ก็ไม่ต้องขยับไปทำอะไรอย่างอื่นนอกจาก Joost เลยล่ะครับ
ส่งท้าย
ขอแสดงความชื่นชมคณะผู้จัดทำ Joost ตั้งแต่เรื่องของวิสัยทัศน์ไปจนถึงความสามารถในการพัฒนาให้เป็นจริงขึ้นมาได้ครับ จริง ๆ แล้วผลงานที่ผ่านมาโดยเฉพาะ Skype ก็ถือเป็นมาสเตอร์พีซไปแล้ว และจาก Skype เองที่ทำให้การขอทุนทำ Joost นั้น ง่ายขึ้นมาก เพราะนักลงทุนส่วนหนึ่งไม่ได้สนใจ “แนวคิด” ของงานมากไปกว่าว่า “ใคร” เป็นคนทำ แม้แต่ผู้เขียนผู้ไร้ซึ่งทีวีในชีวิตประจำวันกว่าครึ่งชีวิตแล้ว (เพราะเหตุผลอันใด คงทราบกันดี) ยังกลับมาดูรายการต่าง ๆ บน Joost บ้างถ้ามีเวลา โดยเฉพาะรายการสรุปข่าวเทคโนโลยีจากรอยเตอร์
แต่มีจุดที่ยังติดใจอยู่นิดนึงครับ อย่างแรกเลยคือยุค Web 2.0 เริ่มมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เป็นเหตุให้เว็บอย่าง YouTube, MySpace โด่งดังขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่ปีได้ แต่ Joost นั้นไม่ได้จับ Features ของ Web 2.0 มาใส่อย่างครบถ้วน จะมีก็แค่ Social Network ซึ่งที่ผู้เขียนต้องการเห็นคือการที่ใครก็ตามที่มี Video Contents สามารถแชร์ให้ทั่วโลกได้รับชมผ่าน Joost ได้ เหมือนกับที่เราทำได้บนคู่แข่งที่ด้อยและป่าเถื่อนกว่าอย่าง Sopcast หรือจะดีกว่านี้คือทำได้แม้กระทั่งทำ Embeded Player บนเว็บส่วนตัวเหมือนอย่างที่ทำได้กับเว็บแชร์วิดีโอทั่วไป Sopcast ก็มี Embeded Player เช่นกัน เข้าใจว่าที่ไม่ทำในตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องการบริหารข้อมูลซึ่งยุ่งยากกว่าเดิมอีกหลายเท่านัก แต่ถ้าทำได้จริง ๆ มันจะดีมาก ๆ ครับ เพราะคุณภาพของภาพบนเว็บแชร์วีดีโอทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่สามารถดีได้ในระดับเดียวกันกับ Joost ตอนนี้
ในวันนี้ Joost ยังมีรูปแบบคล้ายกับเคเบิ้ลทีวีอยู่มากครับ แตกต่างกันเพียงวิธีการกระจายข้อมูลเท่านั้น ดูเหมือนว่าจะทำมาแข่งกันตรง ๆ แต่มันยังมีความต่างก็ตรงที่ว่า เคเบิ้ลทีวีในประเทศใหญ่ ๆ อย่างอเมริกานั้นก้าวไปสู่ยุค HDTV แล้ว แต่ Joost ยังห่างไกลอยู่มาก ผู้เขียนจึงคิดว่า Joost น่าจะมาเน้นที่บูรณาการกับวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ต น่าจะเห็นช่องทางสดใสกว่า ทางผู้ผลิตจึงต้องทำการบ้านในเรื่องนี้อีกมาก เพื่อให้ Joost หลุดจากกรอบแนวคิดที่เหมือนกับทีวีหรือเคเบิ้ลทีวีเก่าครับ
ผู้เขียนยกเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะต้องการให้พวกเรา ทั้งตัวผมเองและท่านผู้อ่านที่ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในสายงานผลิต ได้รับทราบถึงรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้ในการเผยแพร่ผลงานครับ ในตอนนี้ Joost อาจไม่ใช่ทางเลือกในการเผยแพร่ (นอกจากว่าเราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จริง ๆ) แต่นี่คือจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดลูกหลานของ Joost ตามมาอีกอย่างแน่นอน เพราะทีวีนั้น หัวใจสำคัญคือรายการที่สามารถสื่อสารกับคนในท้องที่ต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ภาษาของตัวเองอย่างประเทศไทย คนไทยส่วนใหญ่ ก็ยังต้องการดูรายการที่เป็นภาษาไทยจริง ๆ ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้ให้บริการบ้านเราอาจนำเทคนิคนี้มาใช้ และขายในราคาที่ถูกกว่า หรือไม่ก็หาวิธีสร้างรายได้จากมันอีกหลายสิบวิธีครับ บน Joost เราสามารถดูรายการได้ฟรี แต่จะมีโฆษณาระหว่างรายการบ้าง ซึ่ง ณ เวลาที่เขียน ผู้เขียนเห็นน้อยมาก ๆ ยังห่างไกลกับทีวีไทยเยอะครับ
และแม้จะมีประโยชน์มาก แต่ก็เหมือนกับดาบสองคมครับ P2PTV ก็อาจเป็นอีกช่องทาง สมทบกับ P2P แบบเดิม ช่วยกันทำร้ายผู้ผลิตรายการได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หาก Sopcast พัฒนาคุณภาพของภาพขึ้นมาเทียบเท่า Joost ผู้ให้บริการเคเบิ้ลบ้านเรา เจ็บตัวขึ้นอีก จากเดิมที่เจ็บออด ๆ แอด ๆ อยู่แล้ว ในประเดนนี้ ผู้เขียนขอคิดง่าย ๆ ครับ ในแง่มุมของผู้บริโภค เราก็เลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ในแง่มุมของผู้ผลิตก็รู้ให้เท่าทันเกมของคนอื่น และถ้าเป็นไปได้ สร้างเกมใหม่ขึ้นมาเล่นครับ อย่างน้อยในช่วงแรก เราจะเป็นผู้นำในเกมนั้น ไม่ใช่ผู้ตาม ที่ต้องคอยเล่นตามเกมที่คนอื่นสร้างทุกครั้งไป
เกี่ยวกับ Vuze |
Vuze (ชื่อเดิมคือ Zudeo) คือ BitTorrent Client อีกตัวหนึ่ง ที่ทำขึ้นมาเพื่อยุค HD โดยเฉพาะ โดยเน้นไปที่ระบบซื้อ-เช่า HD Video Content ติด DRM แต่ใช้หลักการดาวน์โหลดแบบ P2P ผ่านโปรโตคอล BitTorrent และใช้แนวคิดของทีวีในการแบ่งช่องต่าง ๆ ออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการ Browse ดูรายการต่าง ๆ และแน่นอนครับ เราสามารถใช้มันเป็น Client ในการดาวน์โหลดข้อมูลจาก Tracker อื่น ๆ ได้ตามปกติ Vuze มีแนวทางที่ชัดเจน และน่าจะเป็นคู่แข่งสายตรงกับร้านขาย Online Content อย่าง iTunes Store หรืออื่น ๆ แต่มี Scheme ในการกระจายข้อมูลที่แตกต่าง คือแบบ P2P ครับ ข้อดีเมื่อเทียบกับ Joost คือคุณภาพของภาพและ Quality of Service แต่อย่างที่เราเข้าใจ เราไม่สามารถดู Content ได้อย่างทันทีแบบ Joost ที่เป็นลักษณะของทีวีครับ รายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดมาทดลองใช้ได้ที่ www.vuze.com |
No comments:
Post a Comment