Sep 19, 2007

รีวิว Deckadance ซอฟต์แวร์ดีเจจาก Image-Line

ตีพิมพ์ครั้งแรก The Absolute Sound & Stage July 2007
DeckadanceLogoAndTitle1500px.jpg

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เวลามีการจัดอันดับซอฟต์แวร์ในสายดีเจของนิตยสารต่างประเทศต่าง ๆ เราจะพบว่า "Ableton Live" คือเบอร์ 1 เสมอ ซึ่งก็สมเหตุผลแล้วล่ะครับ หากใครได้ลองเล่นจะเข้าใจในประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของมัน และแม้ว่า Ableton Live จะทำอะไรได้กว้างตั้งแต่เปิดเพลงให้สาว ๆ ยักย้ายส่ายสะโพก ไปจนถึงสร้างงานเพลงขึ้นมาจากความว่างเปล่า แต่หากว่าเราอยากได้เครื่องมือสำหรับเปิดเพลงอย่างเดียวจริง ๆ Ableton Live ก็อาจจะใหญ่เกินไป ตั้งแต่เรื่องราคาที่แพงกว่าคู่แข่งที่เป็นอันดับสองอย่าง Traktor 3 ถึงเกือบ 2 เท่าแล้ว มันยังขาดความสามารถที่ช่วยให้ดีเจสามารถพรีวิวเวฟฟอร์มระหว่าง 2 Decks แบบทันที เพื่อทำ Beat Matching หรือเข้าท่อนเพลงได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเตรียมตัวมาก่อนอย่างที่ Traktor หรือ Virtual DJ ทำได้
ครั้นจะกลับไปใช้แค่ Traktor ก็อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของดีเจจอมเล่นของ ที่ไม่ต้องการแค่เปิดเพลง-ต่อเพลงแต่อย่างเดียว เพราะข้อจำกัดของ Traktor อย่างการไม่สนับสนุน VST-AU Plug-in ไปจนถึงความยุ่งยากในการเตรียมฮาร์ดแวร์คอนโทรลเลอร์ หรือการที่มันสนับสนุน Vinyl Timecode แค่เฉพาะระบบของมันเองเท่านั้น ทำให้หลายคนอัพเกรดไปเล่น Ableton Live หรือระบบ Vinyl Timecode ตัวอื่นที่เหมาะสมกับความต้องการมากกว่า
เรื่องมันไม่จบอยู่แค่นี้ครับ เมื่อทาง Image-Line ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ดนตรีอย่าง FL Studio ค้นพบช่องว่างตรงนี้และรีบพัฒนาซอฟต์แวร์ดีเจขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่แค่จะเติมช่องว่างให้เต็ม แต่จะมาแทนที่ตัวอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกันอย่าง "Deckadance" ไม่เพียงแต่จะพกความสามารถมาข่มคู่แข่ง แต่ยังทำราคาได้ถูกกว่าอีกด้วย เราลองมารีวิวรายละเอียดต่าง ๆ ของ  Deckadance กันครับ
ว่าด้วยเรื่องของอินเตอร์เฟซ

main.jpg
ทำได้สวยงามตามสมัยนิยมครับ คือรวมทุกอย่างไว้ในหน้าเดียวหมด มีแค่ 2 Decks เท่านั้น แม้จะน้อยกว่า Traktor 3 ที่มีถึง 4 Decks แต่ก็พอเข้าใจได้ครับ เพราะปกติแล้ว เรามักจะไม่เปิดเพลงพร้อมกันมากกว่า 2 เพลงอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นเสียงจะตีกันจนมั่วเกินไป และถ้าต้องการเปิด SFX หรือเสียงอื่น ๆ เราสามารถใช้บริการ Sampler ที่มีมาให้ถึง 8 Slot ได้
รูปแบบ Layout นั้นคล้ายกับ Traktor มากอยู่เหมือนกันครับ โดยเฉพาะระบบ Waveform Preview และตำแหน่งของ ฺPlaylist นั้น รับมาเต็ม ๆ (บน Traktor นั้น จะรวม Browser กับ Playlist ไว้ด้วยกันที่ด้านล่างสุด แต่ Deckadance จะแยก Playlist ไว้ด้านล่าง ส่วน Browser ไว้ด้านขวา)

gui swap.jpg

ส่วนที่อยู่ถัดจาก Deck Control Panel ลงมา เป็นส่วนที่สลับเปลี่ยนหน้าได้ 8 แบบ สำหรับเปลี่ยนไปใช้ Sampler, Vinyl Control, VST Host ฯลฯ อย่างที่เห็นในรูปคือ Sampler 8 Slot ครับ ตำแหน่งสวิตซ์สำหรับเปลี่ยนอยู่ระหว่าง Waveform Display ทั้งสอง
และในขณะที่บน Traktor 3 นั้น ระบบ Layout จะยืดหยุ่นมาก คือเลือกปรับใช้ได้ตามต้องการ และสลับไปมาได้อย่างง่ายด้วยปุ่มเดียว แต่บน Deckadance จะ Fix ครึ่งท่อนบนคือส่วนที่เป็น Waveform Display และ Deck Control Panel และส่วนล่างสุดคือ Playlist เอาไว้ ปล่อยให้ส่วน 1/4 ของจอที่อยู่ใต้ Deck Control Panel เป็นส่วนที่สลับไปมาได้ 8 หน้า ในความเห็นส่วนตัวต้องบอกว่าชอบของ Deckadance มากกว่า เพราะเข้าใจง่ายกว่ามาก ๆ โดยไม่ต้องกังวลว่า Layout แบบไหนจะเหมาะกับสถานการณ์ไหน เพราะเราไม่ต้องปรับอะไรมากมาย ผู้เขียนเล่นครั้งแรก ก็เข้าใจ Deckadance ได้ทันที ขณะที่บน Traktor 3 นั้น ต้องทำความเข้าใจในส่วนของ Layout พักใหญ่ ๆ เลย เรื่องนี้สอนให้ผู้เขียนรู้ว่า "ความยืดหยุ่น บางครั้งก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป"

ในเรื่องของ GUI Deckadance มีจุดพิฆาต Traktor ในเรื่องของ Skin ครับ Deckadance เปลี่ยน Skin ได้ขณะที่ Traktor ทำไม่ได้ ตอนที่ผู้เขียนกำลังเล่น Deckadance อยู่ในเวอร์ชัน 1.1 มี Skin ให้เลือกแค่ 2 แบบคือขาวกับดำ ทาง Image-Line สัญญาว่าจะมี Skin ให้ดาวน์โหลดทีหลังได้อีกในอนาคตด้วยครับ

tools bar.jpg
ที่ด้านบนสุดคือ Tools Bar เป็นส่วนของเมนูต่าง ๆ เหมือนกับโปรแกรมทั่ว ๆ ไป และเป็น Control Panel สำหรับพารามิเตอร์สำคัญ ๆ อย่าง Master Tempo-Master Volume รวมถึงบอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น CPU-MIDI Indicator และดูเหมือนว่าหากมี Features อื่น ๆ อีก ก็สามารถนำมาแปะได้อีกในอนาคต เราสามารถเข้าไปเซตค่า Audio-MIDI ได้ผ่านเมนู Option ครับ เปิดโปรแกรมมาครั้งแรก ก็ต้องเซตตรงนี้ก่อน จึงจะใช้งานได้
Audio/MIDI Setup

หน้าสำหรับ Audio-MIDI ของ Deckadance อาจไม่สวยงามเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Traktor แต่ถ้ามองไปที่ความง่ายแล้ว ก็ถือว่าเข้าใจง่ายทีเดียวครับ เลือกซาวน์การ์ดได้ครั้งละหนึ่งตัว และเลือกปรับ Audio อินพุท-เอาท์พุทได้ตามแต่อุปกรณ์จะมีและความต้องการของเรา ถือว่ามี Audio อินพุท-เอาท์พุทรองรับพอให้เลือกใช้ได้เพียงพอในระดับหนึ่ง แต่ที่ขาดแคลนเป็นเรื่องของ MIDI ครับ ถือว่าน่าผิดหวังพอสมควรที่มีมาให้ใช้แค่คู่เดียวเท่านั้น คืออินกับเอาท์อย่างละ 1 ไม่ว่าเราจะมีอุปกรณ์ MIDI ใน Setup เท่าไร ก็สามารถเรียกใช้แค่คู่เดียวนี้เท่านั้น ถือว่าทำออกมาได้แย่ที่สุด หากจะเทียบกับมาตรฐานซอฟต์แวร์ดนตรีในปัจจุบัน พยามยามหาเหตุผลในลบล้าง ก็พอจะได้อยู่บ้าง เช่นสมมติเราใช้ Controller อย่าง Hercules มาเล่นกับ Deckadance เราก็อาจใช้มันอยู่อันเดียวเท่านั้น แต่มันก็ดูจะปิดตัวเองเกินไปครับ เพราะซอฟต์แวร์อื่น ๆ ยังสนับสนุน MIDI I/O ได้ไม่จำกัดเลย และเท่าที่จำความได้ ผู้เขียนมีอุปกรณ์ MIDI มากกว่าหนึ่งชิ้นในระบบมาตั้งแต่เริ่มเรียนรู้การทำงานดนตรีแล้ว เลยรู้สึกเสียดายนิดหน่อย ความจริงเราอาจใช้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์อื่นมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้บ้าง ที่ง่ายที่สุดคือการใช้ Deckadance เป็น VST Plug-in บน Ableton Live หรือ VST Host อื่น ๆ ที่รับ MIDI Controller ได้มากกว่า 1 ตัวอยู่แล้ว มาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ แต่ก็อย่างว่าครับ มันไม่ควรที่เราจะต้องมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซอฟต์แวร์ควรทำมาให้พร้อมเลยจึงจะถือว่าออกแบบมาอย่างดีครับ

audiomidi.jpg

หน้า Audio/MIDI Setup สังเกตที่ MIDI Configuration จะมี MIDI I/O แค่คู่เดียวเท่านั้น

Deck-a-Dance

หลังจากตั้งค่าทุกอย่างเสร็จภายในเวลาไม่ถึงนาที เราก็เล่นสนุกกับมันได้เลยครับ แต่หากเราต้องการเพิ่ม Directories เพลงอันใหญ่โต ก็สามารถทำได้ภายในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน ระบบจับความเร็วเพลงนั้น เป็นตัวเดียวกับที่ใช้บน Ableton Live ครับ (ซื้อมาจาก zplane.development อีกทีหนึ่ง) ผลลัพธ์จึงเชื่อถือได้ แม้จะเล่นเพลงป๊อปธรรมดาก็ตาม ระบบการเล่นเพลงนั้น ทำได้ดีเมื่อเทียบกับ Traktor ครับ แต่อาจมีจุดที่ขาดไปอย่างเช่นระบบ Real-time Time Stretching ที่ตามมาตรฐานปัจจุบันคือสามารถยืดหดได้ โดย Pitch ไม่เปลี่ยน แต่ Deckadance เป็นระบบเดิมที่เลียนแบบพฤติกรรมของ Turntable ซึ่งจะเปลี่ยน Pitch ตามความเร็วของการ Playback เรื่องนี้พอเข้าใจได้ครับ เพราะถ้าอยากให้มีระบบนี้ ทาง Image-Line ก็ทำได้ง่าย ๆ โดยการใช้ SDK จาก zplane.development เช่นเดียวกับ Ableton Live หรือ NI Traktor แต่ก็ส่งให้ราคาซอฟต์แวร์สูงขึ้น และมันอาจไม่จำเป็นเท่าไร สำหรับแค่การเปิดเพลงให้คนเต้นครับ

deck control.jpg

Layout ของการวางปุ่มนั้น ก็ถือว่าลงตัวครับ อาจเป็นเพราะว่าโปรแกรมดีเจ มักจะมีปุ่มไม่มาก และเราเข้าใจวิธีการจะใช้มันอยู่แล้ว หรือหากไม่เข้าใจ มันยังมีคำใบ้เล็ก ๆ คอยบอกเราถึง 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งแรกจะอยู่ระหว่าง Waveform Display ของ Deck A กับ B ครับ เป็นอันเล็ก คอยบอกข้อมูลสั้น กระชับ อีกอันนึงใหญ่กว่า อยู่ตรงกลางหน้าจอพอดี ซึ่งตรงนี้ถือว่าทำได้ดีมาก และหน้าจอตรงกลางนี้ เรายังสามารถใช้มันเป็น Specscope และ Peakscope สำหรับดูสเปคตรัมและจุดพีคของ Deck A กับ B เพื่อช่วยในการมิกซ์ให้ออกมาเนียนขึ้นได้อีกด้วย

specspoe.jpg peakscope.jpg

Specscope และ Peakscope อาจไม่ได้เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด แต่ก็ช่วยให้ดีเจตัดสินใจที่จะทำการใด ๆ ได้ง่ายขึ้นอีกมาก

แต่มีอยู่จุดที่ถือว่าทำให้ผู้เขียนสับสนได้ในช่วงแรก นั้นคือปุ่ม Loop กับ Leap ครับ ทั้งสองปุ่มคล้ายกันคือเอาไว้เล่น Loop จุดต่างก็คือ ปุ่ม Leap นั้น เราเล่นลูปอยู่ก็จริง แต่ตำแหน่งของการเล่นที่แท้จริงจะเดินไปข้างหน้าอยู่ หมายความว่าหากเราลูป 1 Bar ไป 4 รอบ หลังจากปล่อย Leap แล้ว ตำแหน่งของเพลงในตอนนั้นจะถูกขยับไป 4 Bar ครับ ขณะที่หากเราใช้ปุ่ม Loop ไม่ว่าจะเล่นกี่รอบก็ตาม พอปล่อยเสร็จแล้วมันก็จะเล่นที่ตำแหน่งที่เรา Loop ไว้ครับ

รายละเอียดของ Faders

fader.png

แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่ก็ถือว่าสำคัญมากครับ ออกแบบมาได้น่ารักดี แต่มีรายละเอียดในบางจุดที่แตกต่างจากซอฟต์แวร์ดีเจอื่น ๆ คือ Beat Indicator ครับ เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่อยู่ใต้คำว่า Host Master Tempo จะคอยรายงานเราว่า Beat ระหว่างทั้ง 2 Decks นั้น Sync กันดีแล้วหรือยัง จะแสดงผลสองระดับคือระดับ Beat คือแบ่งออกเป็น 2 ช่อง หากสีของทั้งสอง Deck วิ่งไปพร้อมกัน ก็หมายความว่า Beat Sync กันแล้ว และมีระดับ Sub-Beat คืออยู่ใต้ลงมาอีก จะเป็นตัวบอกความเหลื่อมล้ำครับ เส้นยิ่งสั้น ก็หมายความว่า Beat ของทั้งสอง Deck แนบแน่นกันมาก แต่โดยปกติแล้ว หากเราให้โปรแกรมช่วย Sync เราก็ไม่ต้องคอยดูตรงนี้มาก เรื่องของ Fader ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือเราสามารถปรับ Curve ของ Crossfader ได้ครับ โดยการคลิก Tab vinyl/Extended Control ปรับให้เหมาะกับการเล่นของเรา หรือแม้แต่จะให้มัน Reverse เลยก็ยังได้

เรื่องของ Effects

build-in effect.png

เอฟเฟกต์ที่ติดมากับ Deckadance มีทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 3 Bands EQ, X-Y Control Pad และ ReLooper

อย่างที่เราเห็นในรูปใหญ่แล้วว่า EQ เป็นแบบพื้นฐาน 3 Bands ขณะที่คู่แข่งอย่าง Traktor หรือ Ableton Live นั้น มีตัวเลือกให้มากกว่า ซึ่งผู้เขียนก็เห็นว่าในการเปิดเพลงเพื่อสร้างความบันเทิง แค่ 3 Bands ก็ถือว่าพอเพียงแล้ว เอฟเฟกต์ทั้งหมดประกอบไปด้วย Filter 4 ชนิด และ Phaser/Echo/Lo-fi เป็น Deck Effect และยังมีซ่อนอยู่ในหน้าของ ReLooper อีก 4 ตัวคือ Wah-Wah Filter, Panoramic LFO, Ring Modulator และสุดท้ายเสียงแนวมาก Track Coder เป็น Master Effect ทั้ง EQ และ Effect ทุกตัวบน Deckadance มีการประมวลผลที่ระดับ 64 บิตเลยครับ ผลลัพธ์ออกมาดีตามมาตรฐานของ Image-Line แต่ของแบบนี้บางท่านอาจติดรสชาติมาจากที่อื่น ๆ และอาจไม่ชอบก็ได้ เป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคลครับ แต่ที่ชอบมากคือส่วนของการควบคุมเอฟเฟกต์เป็น X/Y Pad ให้เราจิ้มเมาส์และลากใช้ได้เลย ทำให้ใช้ง่ายมาก ๆ ส่วนถ้ายังรู้สึกว่าที่มีให้ยังไม่พอ เรายังสามารถใช้เอฟเฟกต์ได้จาก VST Plug-In อีก จึงไม่น่าห่วงกับเรื่องนี้เท่าไรครับ

ReLooper

relooper.png

เป็นอีกหนึ่งเอฟเฟกต์ที่เคยพบบน Virtaul DJ แต่ไม่มีให้เล่นบน Traktor แนวคิดของมันคือหั่นเพลง 1 Bar ออกเป็น 16 ส่วน แล้วเราสามารถนำมาเรียงลำดับการเล่น หรือแม้แต่จะหั่นย่อยลงไปอีกได้ ช่วยสร้างลูกเล่นแบบ Stutter Effect ตามสมัยนิยม เอฟเฟกต์ประเภทนี้ มีต้นกำเนิดมาจากซอฟต์แวร์ครับ หากต้องการใช้ระบบเดียวกันบนฮาร์ดแวร์ ปัจจุบันก็สามารถทำได้ โดยจ่ายประมาณ $400 สำหรับค่าตัวของ Korg Kaoss Pad 3 แต่บนซอฟต์แวร์จะถือว่า Solution นี้มีราคาถูกมาก และแม้ว่า ReLooper เป็นเอฟเฟกต์ที่เล่นสนุกดี แต่มีโอกาสใช้กับเพลงจริง ๆ ไม่บ่อยครั้งเท่าไรหรอกครับ เพราะถ้าใช้ไม่ดี ไม่ถูกจังหวะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่จะเหมาะมาก สำหรับงาน Electronic Live Performance ซึ่งเน้นไปที่ Interaction ระหว่างผู้เล่นกับเครื่องดนตรีครับ

เราสามารถสร้าง Pre-Pattern ให้กับ ReLooper ได้ 3 แบบต่อหนึ่ง Deck ครับ เวลาเรียกใช้ก็กดปุ่ม ReLooper ทั้ง 3 ปุ่มที่วางอยู่เหนือ X-Y Control Effect ได้เลย ในหน้านี้ยังซ่อน Master Effect ไว้อีก 4 ตัวคือ Wah-Wah, LFO Pan, Ring Mod, Vocoder ใช้งานง่ายมาก แค่กดปุ่ม ปรับอะไรไม่ได้เลย แต่ก็ให้เสียงออกมาสนุกดีครับ

คลังแสง VST

VST Host.png

Deckadance น่าจะเป็นซอฟต์แวร์ดีเจแท้ ๆ ตัวแรก ที่ผู้เขียนรู้จัก ที่สนับสนุน VST และไม่ใช่แค่เอฟเฟกต์ครับ แต่พ่วงอินสตรูเมนต์มาด้วย หมายความว่าเราสามารถใช้ Deckadance ทำหน้าที่ Host ซินธ์ตัวโปรดของเรา แล้วใช้ MIDI Keyboard เล่นแจมไปกับเพลงได้ด้วย ซึ่งแนวคิดดีมาก ๆ เช่นนี้ มาตายก็ตรงที่สนับสนุนอุปกรณ์ MIDI ได้แค่ตัวเดียวนี่ล่ะ หมายความว่า หากเราต้องการควบคุม Deck ผ่าน Hercules DJ Console แล้ว เราก็ไม่สามารถใช้ MIDI Keyboard อื่น ๆ มาพ่วงด้วยได้ แต่อย่างไรก็ตามครับ มันยังปราณีด้วยการติดระบบเล่น MIDI Sequence มาให้ด้วย น่าเสียดายนิดคือยังไม่มีระบบ Real-time MIDI Edit เราจำเป็นต้องเตรียม Files MIDI Sequence ไว้ก่อน จัดไว้ใน Folder เดียวกันเพื่อความสะดวก และสามารถใช้ Deckadance เลือกเล่นได้ตามสะดวก และแม้จะเล่นผ่าน Keyboard ได้ก็จริง แต่เราไม่สามารถบันทึก MIDI Sequence นั้นไว้ได้ครับ ระบบ Routing สัญญาณเสียงก็ยืดหยุ่นพอประมาณครับ เราสามารถเลือกให้สัญญาณเสียงจาก Deck A-B เข้ามาผสมกับ VST เป็นสัดส่วน Wet/Dry เท่าไรก็ได้ หรือจะให้ส่งมาเต็ม ๆ เลยก็ได้ และยังสามารถส่งไปมอนิเตอร์ที่หูฟังก็ยังได้ ถือว่าทำได้ครบ ไม่มีจุดบกพร่องให้รู้สึกเซ็งครับ

Hey Mr.Deejay play that Samplers!!

sampler.png

Feature นี้น่าจะเติมเต็มการที่ Deckadance มีแค่ 2 Decks เท่านั้นครับ Sampler มีมาให้ถึง 8 Slots ไม่ใช่แค่ให้เราโหลดเสียง SFX มาร่วมเล่นแต่เพียงอย่างเดียว เรายังสามารถ Sampling เสียงจาก Deck ได้ด้วย และทันทีครับ โดยเราไม่จำเป็นต้องเล่น Deck นั้นอยู่เลย ก็สามารถ Sampling มาได้ (เป็นการทำงานแบบดิจิตอลโดยแท้) โดยความยาวของการ Sampling นั้นจะเท่ากับที่เราตั้งค่าไว้ที่ Loop/Leap ครับ และด้วยเหตุผลของการเล่น SFX ให้ดังกว่าปกติ เสียงจาก Sampler จะดังกว่า Deck ที่ตำแหน่ง Fader ระดับเดียวกันครับ เวลาใช้ก็ควรระวังเรื่องนี้ให้ดี

VST/External Control

vinyl control.png

แม้ว่าส่วนนี้อาจไม่จำเป็นนักสำหรับการเล่นเพลงตามปกติ แต่หากใครที่หลงใหลการทำงานของ Vinyl แล้ว น่าจะชอบครับ เพราะการที่มันรองรับ Vinyl/CD Timecode ได้หลายรูปแบบตั้งแต่ Stanton FinalScratch, Serato Scatch Live, MixVibes, msPinky, M-Audio Torq, PCDJ Reflex ซึ่งแต่ละระบบมีรายละเอียดในการใช้แตกต่างกันบ้างนิดหน่อยครับ ในหน้านี้ยังมีระบบ Monitor Control, Crossfader Curve และ 8 Bit Microsampler สำหรับ Sampling เสียงจาก Master Out ได้ด้วย ดังนั้นต่อให้ไม่ได้ใช้ Vinyl/CD Timecode ก็อย่าพึ่งลืมใช้ Features ต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในหน้านี้ครับ

StantonFinalScratch.jpg SeratoScratchLive.jpg PCDJReflex.jpg

MixVibes.jpg msPinky.jpg maudioTorq.jpg

ระบบไหนที่คุณเลือกใช้?

ระบบ MIDI

midi learn.png

แม้จะติดข้อจำกัดสำคัญของ MIDI ในเรื่องจำนวน In-Out แต่ Deckadance ก็ทำระบบ MIDI Learn มาดีในระดับหนึ่งเลยล่ะครับ ถือว่าทำได้ดีกว่า Traktor ในแง่ของความง่ายและความเร็ว แต่ก็ยังดีไม่พอเมื่อเทียบกับ Ableton Live ที่เราสามารถทำ MIDI Learn ได้ผ่าน GUI เลย (ตั้งแต่เวอร์ชันแรกในปี 2001) ขณะที่ Deckadance เป็นลักษณะ Learn กับคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเราจะเข้าใจทุกคำสั่งได้โดยทันที ยกตัวอย่างผู้เขียนพยายามหาการควบคุม Master Tempo เท่าไรก็ไม่เจอ ทั้ง ๆ ที่คำสั่งควบคุม Master มีแค่ 10 กว่าคำสั่ง จนแน่ใจว่ามันไม่มี หรือถ้าอยากให้มี ต้องใช้ Deckadance เป็น VSTi อีกทีหนึ่งครับ แล้วควบคุม Master Tempo เอา ที่เหลือคำสั่งอื่น ๆ ก็มีมาให้เลือกใช้ หรือถ้าอยากใช้ Deckadance สนุก ๆ หน่อย ก็หาซื้อ MIDI Control ที่ Deckadance สนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ Hercules DJ Console, Kontrol-DJ, EKS XP10, M-Audio XSession, Allen & Heath Xone: 3D, Behringer BCD2000-3000, Vestax VCI-100 หรือแม้แต่ Nintendo WiiMote ก็สามารถใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องมานั่ง Learn ปุ่มแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามครับ ผู้เขียนก็ยังพบปัญหาง่าย ๆ ในส่วนนี้ คือต่อให้เรามีอุปกรณ์ในรายชื่อแค่ไหน ก็ยังสามารถใช้ได้แค่ตัวเดียวเท่านั้น ลองคิดดูว่าหากเรามีทั้ง WiiMote และ Hercules DJ Console แต่นำมาใช้ได้ทีละ 1 ชิ้น เป็นเรื่องที่ทางผู้พัฒนาตกม้าตายอย่างมาก ๆ ครับ

Wii Jay

djwiijay.jpg

Nintendo WiiMote บน Booth DJ นั้น เป็นสิ่งธรรมดาสามัญทั่วโลกแล้ว ไม่เว้นแต่ประเทศไทย

เนื่องจากผู้เขียนได้ติดตามความเคลื่อนไหวในการใช้ WiiMote มาเล่นดนตรีตั้งแต่ตอนที่มันออกใหม่ ๆ แล้ว เลยไม่ได้ตื่นเต้นกับการที่ Deckadance สนับสนุน WiiMote แบบ Native เสียเท่าไรครับ เพราะเราสามารถแมปการเคลื่อนเองได้ไม่ยาก เพียงแต่การที่มันเป็น Native เราก็ไม่จำเป็นต้องเหนื่อยมากกว่านี้ครับ ตัว WiiMote จะมี Sensor จับการหมุนข้อมือและชี้ขึ้น-ลงได้ เท่านั้นเอง ในการควบคุมเราจะใช้ปุ่มกากบาทในการเลือกโหลดเพลงลง Deck ใช้ปุ่ม 1-2 ในการ Play/Pause Deck A-B ปุ่ม A กดค้างไว้แล้วชี้ขึ้น-ลงจะเป็นการเล่นกับ X-Y Control Pad กด B ค้างไว้แล้วหมุนข้อมือ จะเป็นการควบคุม Pitch ขึ้น-ลง ครับ ส่วนปุ่ม +/- ใช้ควบคุม Crossfader จะเห็นว่าควบคุมได้ไม่มากเท่าไร แต่ก็พอเล่นเพลงหลอกสาว ๆ ได้ครับ ลองเล่นเอฟเฟกต์ Filter ต่อหน้าพวกเธอ ทุกคนจะต้องขอเล่นบ้างแน่นอน

แม้ว่ามันจะสนับสนุนแบบ Native แล้วก็ตาม แต่การจับคู่ระหว่าง WiiMote กับคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียวโดยเฉพาะในครั้งแรก ผู้เขียนแนะนำเครื่องมือที่ช่วยจับคู่อย่าง IVT Bluesoleil โหลดหาได้จาก Google ได้เลย แต่ต้องไม่ลืมว่า PC ของเราต้องมีอุปกรณ์ Bluetooth ด้วยนะครับ ไม่งั้นล่ะก็ไม่มีทางได้ใช้แน่นอน

รายละเอียดที่เหลือ

dmx.png

แม้วันนี้ยังเล่นกับ DMX ไม่ได้ แต่ทางผู้ผลิตก็ได้แนบเมนูมาเรียกน้ำย่อยรอไว้ก่อนแล้ว

แม้ว่ามันออกแบบมาเพื่อเป็นมือล่าสังหารโปรแกรมดีเจอื่น ๆ ที่เกิดมาก่อน แต่มันก็ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่ยังไม่สมบูรณ์พอให้เราคาดหวังอนาคตกับมันได้ เช่นในเมนู Tools และการสนับสนุน DMX จะมี Features เพิ่มเติมมาในอนาคต รวมไปถึง MIDI Controller รุ่นต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนเพิ่มตามมา รวมไปถึงระบบ MIDI ที่ยืดหยุ่นขึ้นอย่างแน่นอนครับ

ในส่วนที่ทำดีอยู่แล้วที่ชอบ นอกจากที่ว่ามาทั้งหมด ก็ยังมีระบบ Bass X-Fade กล่าวคือ EQ ในย่านต่ำจะเลื่อนขึ้นลงตามตำแหน่งของ Crossfader ด้วย เพื่อป้องกันเสียงย่านต่ำที่จะมาตีกันระหว่าง 2 Decks นั่นเอง ระบบ Automix นี่ก็ถือว่าทำได้ดีครับ เราสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะให้มีช่วง Transition ระหว่างเพลงได้นานแค่ไหน เริ่มต้นที่ 15 วินาทีขึ้นไป ซึ่งเวลาว่าง ๆ ผู้เขียนใช้ Deckadance เป็นเครื่องฟังเพลงโดยใช้ฟังก์ชัน Automix เล่นไป และเราก็ทำงานอื่น ๆ ไป โดยทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนเพลง เราก็เข้ามาจัดการเรื่อง Tempo นิดหน่อย เพื่อให้เพลงเล่น Tempo ที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นแล้ว เสียงจะเปลี่ยนไปเยอะมากครับ เป็นการช่วยให้การฟังเพลงและทำงาน มีความสนุกเล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย

ข้อเสียเรื่องอื่น ๆ ที่ขัดใจและยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือหน้าต่างของโปรแกรมในโหมด Standalone จะยืดอยู่กับจอแรกเสมอ หากเราทำงานสองจอ เราไม่สามารถลากหน้าต่างนี้ไปมาอิสระได้ครับ และหากเราใช้มันเป็น VSTi บน Ableton Live เราจะไม่สามารถโหลดเพลงลง Deck ผ่านการ Drag n Drop จาก Browser ของ Live ได้ แต่จะทำได้จาก Browser ของ Windows เท่านั้น ขณะที่ VSTi อย่าง Additive Drum กลับทำแบบที่ผู้เขียนต้องการได้ครับ เป็นเรื่องหงุดหงิดเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีปัญหานี้เสมอไป แต่ที่แน่ ๆ เลยคือการใช้ Deckadance บน Ableton Live เป็นการเสริมจุดแข็งของกันและกันคือ Live จะช่วยสนับสนุนระบบ MIDI Control ให้ยืดหยุ่นขึ้นมาอีกระดับ ขณะที่ Deckadance จะช่วยเสริมจุดแข็งในเรื่องของการเปิดเพลง-ต่อเพลงอย่างรวดเร็วครับ ที่สำคัญคือวิธีการนี้จะทำให้เราสามารถใช้ Deckadance กี่ตัวก็ได้อีกต่างหาก (แต่อาจไม่จำเป็นซักเท่าไรนักในสถานการณ์จริง)

อ่านไปอ่านมา อาจดูเหมือนว่าผู้เขียนชังมากกว่าชอบ แต่ความจริงแล้วผู้เขียนใช้ Deckadance เป็นโปรแกรมฟังเพลงหลักเลยเสียด้วยซ้ำครับ ข้อเสียต่าง ๆ ที่ยกมาก็เพื่อนำมารายงานกันอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง ข้อเสียมันอาจมีอยู่ แต่ข้อดีของมันก็ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของ Traktor ได้ในหลาย ๆ จุด ซึ่งถ้าหากซอฟต์แวร์ที่ได้รับการเชื่อถืออย่างยาวนานอย่างTraktor ทำตามที่ผู้ใช้ร้องขอตั้งแต่ตอนแรก ในวันนี้เราอาจไม่มี Deckadance แล้วก็ได้ครับ Deckadance ยังอาจจะมาแทน Traktor ไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ใช้ Mac ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย เพราะ Deckadance รันได้บน Windows เท่านั้นในตอนนี้ ขณะที่ราคาถูกกว่า Traktor ถึง $20 ลองดาวน์โหลดตัวสาธิตจาก www.deckadance.com แล้วลองเล่นเพื่อชั่งน้ำหนักดูครับ ว่ามันอาจจะเหมาะกับวิธีการใช้งานของคุณผู้อ่าน เหมือนอย่างกรณีของผู้เขียนก็เป็นได้

DeckadanceAdd800px.jpg

No comments: