Mar 31, 2007

Music Video Game แสงสว่างเล็ก ๆ ในถ้ำมืดของวงการดนตรี

คงไม่ต้องอธิบายเรื่องที่ทุกคนก็ทราบกันดีครับ ว่าวงการดนตรีทั้งบ้านเราและทั่วโลกตอนนี้นั้นเป็นเช่นไร
แม้ว่างานที่โดดเด่นจริง ๆ จะยังคงขายได้บ้าง หรือร้านขายเพลงออนไลน์จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ
แต่นั้นก็ยังไม่เท่ากับเม็ดเงินที่เคยสร้างตึกให้กับค่ายเพลงอย่างที่เคยทำได้ในอดีต และไม่ขอพูดถึงว่าระบบธุรกรรมออนไลน์ในบ้านเรานั้นแข็งแรงแค่ไหน


ผู้เขียนเพิ่งได้ศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับวงการ Music Video Game แล้วอยากจะหยิบมารายงานให้ทราบกันครับ
เพราะว่ามันอาจเป็นข้อมูลที่นักดนตรีบางท่าน อาจไม่เคยคิดถึงเลย Music Video Game
ก็คือเกมที่ใช้เพลงเป็นพระเอก ส่วนใหญ่แล้วจะมีรูปแบบคล้ายกันคือผู้เล่นต้องคอยกดปุ่มให้ลงตามจังหวะของเกม
เพื่อให้เกิดเสียงที่สมบูรณ์ ไม่อย่างนั้นแล้วเสียงในบางส่วนอาจหายไปหรือเหลื่อมกับจังหวะ ผู้บุกเบิกเกมประเภทนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับค่ายเกมญี่ปุ่นอย่าง Konami ครับ เพราะเริ่มต้นทำมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วอย่าง Beatmania (1997) ที่มีรูปแบบของปุ่มควบคุมเหมือนกับ DJ Scatch แต่การเล่นเกมจริง ๆ แล้วแทบไม่มีอะไรสัมพันธ์กันเลย เกมนี้มีความสำคัญในวงการ Music Video Game มาก ๆ เพราะเป็นต้นแบบให้เกมรุ่นหลังหลายเกม และ Music Video Game โด่งดังสุด ๆ ในช่วงปี 1999 กับเกม Dance Dance Revolution ที่บ้านเรามีเกมนี้วางกระจายกันแทบทุกห้าง และพัฒนาไปเป็นเกมที่มีลักษณะการเล่นเหมือนเครื่องดนตรีจริงอย่าง Drummania, Keyboardmania ไปจนถึง Guitarfreak ต้นแบบ Guitar Hero ที่โด่งดังในปัจจุบัน
ซึ่งตอนนี้ภาคต่ออย่าง Guitar Hero 2 ถูกนักธุรกิจหัวใสบ้านเรานำไปจับมาทำเกมตู้ (เดิมทีเป็นของเครื่อง PS2) แล้ววางกระจายอยู่ตามห้างใหญ่ ๆ บ้านเรา มีเด็กวัยรุ่นมากมายเล่นกันทั้งวัน เกมนี้ภาคที่แล้วที่ยังไม่พัฒนาเท่าภาคนี้ ยังขายได้หลายล้านชุด (ชุดละประมาณ $50 ไม่รวมราคาของ Guitar Controller) และมากพอที่ดึงดูดให้กับยักษ์ใหญ่ในวงการเพลงอย่าง MTV Network ต้องวางเงินซื้อบริษัทผู้ผลิตเกม Guitar Hero  อย่าง Harmonix Music System ไปเป็นเงินถึง $175 ล้าน เพื่อให้ค่ายนี้ผลิตเกมโดยใช้เพลงที่ MTV ถือครองลิขสิทธิ์อยู่

 

ภาพ Screenshot ของ Guitar Hero 2 ที่กวาดรายได้ไปมากมาย แม้แต่ในบ้านเราก็ฮิตมาก


จุดขายสำคัญของเกม Guitar Hero คือการที่ผู้เล่นรู้สึกว่ากำลังเล่นกีตาร์จริง ๆ และเล่นเพลงระดับตำนานที่มีกีตาร์เป็นพระเอก แม้การดีดกีตาร์จะห่างไกลจากของจริงมากคือเป็นเพียงปุ่มเพียง 5 ปุ่มบนฟิงเกอร์บอร์ด เราจะต้องกดปุ่มเหล่านี้และดีด Strum Bar ให้ทันจังหวะของเกม ความสนุกมันอยู่ที่ว่า หากเราดีดไม่ตรงจังหวะหรือผิดปุ่ม เสียงกีตาร์ก็จะหายไปหรือเพี้ยน ทำให้เราต้องพยายามดีดให้ดีที่สุด เพื่อให้เสียงออกมาดีที่สุดเช่นกัน และเรายังสามารถเล่น Expression อย่างการโยก Whammy Bar แล้วเสียงของกีตาร์ก็จะเปลี่ยนไปตามการโยกจริง ๆ ด้วย สิ่งที่ผู้เขียนพยายามอธิบายมาทั้งหมดนั้น ไม่มีทางเท่ากับการที่ท่านผู้อ่านได้ลองเล่นด้วยตัวเองจริง ๆ เชื่อว่ามือกีตาร์ตัวจริงมาเห็นอาจต้องร้องยี้ในคราแรก เพราะตัวจอยกีตาร์นั้นเหมือนกับกีตาร์เด็กเล่นที่ขายตามงานวัดนี่เองครับ ผู้เขียนเองก็เล่นกีตาร์อย่างคลั่งไคล้มาตั้งแต่วัยรุ่นเช่นกัน ก่อนจะเล่นเกมนี้คิดไว้แต่เพียงขำ ๆ เพียงเพื่อทดลองของใหม่เท่านั้น แต่พอได้เล่นจริง ๆ กลับรู้สึกสนุกมาก ๆ ในแง่ที่เราชอบฟังเพลงและเราสามารถเล่นกับเพลงนั้นได้จริง ๆ ทั้งยังให้ความรู้สึกเหมือนกับเราเล่นกีตาร์จริง ๆ เพราะหัวใจมันอยู่ที่ความสัมพันธ์็ระหว่างการกดปุ่ม การดีดและเสียงที่เราได้ยิน ไม่ใช่รูปลักษณ์ของกีตาร์ที่เราจับอยู่ ไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นกีตาร์ ว่าจะสนุกกับเกมนี้แค่ไหน หากท่านผู้อ่านมีโอกาสไปเห็นตู้เกมนี้ตามห้างดังแถวบ้าน อย่าลืมที่จะลองหยอดเหรียญแล้วเล่นกับมันดูสักนิด ไม่ได้อยากเชิญชวนให้เสียเงินฟุ่มเฟือยนะครับ เพียงแต่อยากให้สัมผัสกับเทคโนโลยีที่อาจพลิกฟื้นวงการเพลงให้กลับมาอีกครั้งเท่านั้นเอง

 

จอยเกม Guitar Hero จำลองมาจาก Gibson SG


อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นกรณีศึกษาในเรื่องของการซื้อเพลงก็คือเกม DJMAX Portable ครับ เกมนี้ผลิตโดยบริษัทสัญชาติเกาหลี เป็นเกมสไตล์เดียวกับ Beatmania แต่ปรับปรุงหลาย ๆ อย่างให้ดีขึ้น เริ่มต้นจากเป็นเกมบนเว็บและมือถือ จนมาโด่งดังเข้าหูผู้เขียนคือเวอร์ชันของ Sony PSP (เครื่องเล่นเกมพกพาของ Sony) เกมนี้ผู้เขียนเพิ่งได้สัมผัสภาคล่าสุดที่เพิ่งออกมาสด ๆ ร้อนปลายเดือนมีนาคมนี่เอง จุดที่น่าสนใจนอกเหนือจากตัวเพลงแล้วคืออะนิแมชั่นประกอบเพลงครับ ทำออกมาได้สวยงามทำให้เกมดูมีค่าขึ้นมาก ตัวเพลงเองส่วนใหญ่เป็นเพลงแดนซ์ที่ทำออกมาได้ดีระดับหนึ่ง จุดสำคัญของเกมก็คือ Interactive ครับ เรากดปุ่มตามจังหวะเพลง ก็จะมีเสียงของเครื่องดนตรีขึ้นมาแจมด้วย ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ เปียโนหรือเสียงกลองชุด ทำให้ผู้เล่นนอกจากจะฟังเพลงเพราะ ๆ ชมภาพสวย ๆ ก็ยังสนุกกับการที่เราได้มีส่วนร่วมกับเพลง เกมชุดนี้ประกอบไปด้วยเพลงให้เล่นและสามารถฟังอย่างเดียวก็ได้กว่า 60 เพลง มีราคาขายในเมืองไทยประมาณ 1200-2000 ขึ้นอยู่กับสถานที่ แต่มีคนไทยจำนวนไม่น้อยยอมควักเงินซื้อ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเรื่องของเศรษศาสตร์ เพราะเกมนี้มีความจุประมาณ 1.7 GB ซึ่งราคาของ Memory Stick 2 GB อยู่ที่ประมาณสองพันกว่าบาท ทำให้การซื้อเกมในฟอร์แมท UMD คุ้มค่ากว่าการโหลดมาใส่ Memory Stick อย่างไม่ต้องสงสัย แม้จะโหลดมาฟรีก็ตาม แต่เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือการที่เกมนี้เล่นสนุกและควรค่าแก่การเป็นเจ้าของ ทำให้ใครหลายคนหรือแม้แต่ผู้เขียนเอง เต็มใจที่จะควักเงินซื้อเช่นกัน แม้มันจะมีราคาแพงกว่า CD เพลงปกติถึง 12 เท่าเมื่อเทียบกับเพลงไทย หรือ 4 เท่าเมื่อเทียบกับเพลงสากลก็ตาม

 

DJMAX Portable เพลงเพราะ ภาพสวย เล่นสนุก


เป็นความจริงเสมอครับ เพลงที่ดีอยู่แล้ว บรรจุในซีดีธรรมดามันก็ยังขายได้ (บ้าง) แต่เมื่อ
เทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยน การขายงานให้ตรงกับการบริโภคอาจเป็นทางเลือกที่ฉลาดในยุคนี้ก็ได้ครับ Music Video Game ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เกมกีตาร์ เกมเต้นหรือเกมที่ต้องกดปุ่มตามจังหวะเพลงเท่านั้นครับ Harmonix ยังเคยทำเกมคาราโอเกะซึ่งก็คือคาราโอเกะที่มีระบบจับ Pitch ของการร้องได้ ผู้ที่ได้คะแนนดีที่สุดคือผู้ที่ร้องได้ตรง Pitch ที่สุด (น่ากลัวว่าอาจไม่เพราะได้) ซึ่งคนทำเครื่องคาราโอเกะบ้านเราสามารถพัฒนาในส่วนนี้เองได้ครับ ตัวเกมถือว่าประสบความสำเร็จประมาณหนึ่งจนต้องมีภาคต่อตามมาอีกหลายภาค อย่างล่าสุดที่กำลังจะออกคือ Karaoke Revolution presents American Idol ครับ

ภาพตัวอย่างของเกม Karaoke Revolution presents American Idol 

No comments: